นาปรังดงสาร X ข้าวเม่านายอ สินค้าชุมชนมูลค่าสูง อ.อากาศอำนวย



ฝันในฝัน อยากให้ข้าวนาปรังแปรรูปข้าวเม่าได้

"แปรรูปข้าวเม่า" เป็นหนึ่งในภาพฝันของชาวดงสาร เพื่อพัฒนาสินค้าช่วงกลางน้ำ ตามที่วิเคราะห์ Supply Chain การทำนาปรัง จับคู่ค้ากับกลุ่มแปรรูปข้าวเม่าบ้านนายอ เขียนใส่แผนปฏิบัติการตัวใหญ่ ๆ ไว้ นี่คือเป้าหมายที่จะเดินไป

แต่ปัจจุบันอยู่กับความเป็นจริง คือหาวิธีจัดการเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้ เพราะเป็นรากฐานสำคัญ คือบันใดขั้นแรก เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายต่าง ๆ เช่นการแปรรูปข้าวเม่า ปฏิบัติการโมเดลแก้จนในปีที่ผ่านมา (2565) จึงเน้นสร้างการรับรู้ ตระหนักถึงความสำคัญ การเก็บพันธุ์ข้าว (คลังเมล็ดพันธุ์ข้าว)

เพื่อไม่พลาดทุกโมเม้น อ่านย้อนหลังได้ที่..โมเดลคลังเมล็ดพันธุ์ข้าว

ระหว่างรอทุกอย่างเข้าระบบ ผู้ก่อการดีทีมพี่เลี้ยง เดินหน้าขยับงานตามวิสัยทัศน์ คือพัฒนาดงสารเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน สร้างสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ในปฏิบัติการโมเดลแก้จน ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ในปี 2566



ดูงานนายอ แล้วมามองศักยภาพทีมดงสาร

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 คงถึงเวลาที่เหมาะสมก่อนลงมือทำนาปรัง ทีมผู้นำพี่เลี้ยง ครูแดง พ่อเด่น ชาวกันไปดูงานเพิ่มช่องทางแปรรูปข้าว ซึ่งนาน ๆ พญาช้างเผือกจะออกจากป่าดง (สาร) ไปถึงดินแดนถิ่นนายอ มีชื่อเสียงลือเรื่องข้าวเม่าหวาน

กลุ่มแปรรูปข้าวเม่าบ้านนายอ ต.อากาศ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ถือเป็นสตาร์ทอัพชุมชนที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ คือต้นแบบการสร้างเศรษฐกิจชุมชน ( Local Economy ) โดยชุมชนมีส่วนร่วม สร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่ ครัวเรือนมีกำไรมากกว่า 200,000 บาทต่อปี

บรรยากาศเหมือนกับเสียบปลั๊กไฟ แรงดัน 1,000 โวล์ สอบถามข้อมูลการทำข้าวเม่าทุกขั้นตอน ส่วนกลุ่มผู้ผลิตข้าวเม่า ยินดีให้ข้อมูลทุกอย่าง ต้องการข้าวนาปรังมาแปรรูปจำนวนมาก ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลจึงเห็นโอกาสเด็ดของดงสาร ที่ทำนาปรังมากกว่า 4,000 ไร่

สิ่งที่ประทับใจคือ เทคโนโลยีช่วยลดแรงงานทุกอย่าง ชาวบ้านเป็นผู้ออกแบบให้เหมาะสมกับความต้องการ โดยมีช่างคือลูกหลานที่เรียนจบมาทำให้ เป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ที่แท้จริง

สัญญาใจเรียนรู้ ข้าวเม่านาปรังบ้านดงสาร

พ่อเด่นถึงอยากชวนบ้านนายอ ไปดูข้าวนาปรังที่บ้านดงสารทันที จึงได้สัญญาใจกันไว้ว่า จะไปรับซื้อข้าวนาปรัง พร้อมเน้นย้ำเรื่องพันธุ์ข้าวต้องเป็นข้าวเหนียว ที่สำคัญต้องไม่ปนเพราะช่วงข้าวเม่าจะไม่พร้อมกัน ทางกลุ่มจะลงไปให้คำแนะนำอีกครั้งหนึ่ง

ขั้นตอนการปลูกข้าวเม่า ต้องคัดพันธุ์เหมือนกับปลูกข้าวพันธุ์ ซึ่งชาวดงสารกำลังพัฒนาทักษะ และจัดการระบบคลังพันธุ์ข้าว ถือเป็นการเจอกันครั้งแรกที่ลงตัว นครดงสารกับเมืองนายอ จะร่วมกับเชื่องห่วงโซ่อุปทานข้าวนาปรัง ข้าวเม่า สู่ผลิตภัณฑ์อำเภออากาศอำนวยได้ไหม ต้องรอติดตาม

"อีกครึ่งทางฝัน ยืนยันกับอ้ายได้บ่ ช่วยเป็นจิ๊กซอว์ ตัวสุดท้ายเติมใจฮักมั่น" (ขอมอบเพลง ฝันอีกครึ่งต้องพึ่งเธอ มนต์แคน แก่นคูณ เป็นแรงใจให้นะครับ)



 






เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ Onepoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

2 ความคิดเห็น

  1. ไม่ระบุชื่อ1/4/67

    เสริมความรู้ ด้านธุรกิจเชื่อมห่วงโซ่อุปทาน ใช้วัตถุดิบในพื้นที่ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในอำเภอ

    ตอบลบ
แสดงความคิดเห็น
ใหม่กว่า เก่ากว่า