
การเงินบัญชีกับชาวบ้าน คือคำสาปความแตกแยกกลุ่ม เหมือนมารร้ายคอยกีดกันความเข้มแข็งของชุมชน เป็นความท้าทายหน่วยงานในพื้นที่ รวมถึงนักวิจัยทีมโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูงครั้งนี้ด้วย
ชาวบ้านทำบัญชีครัวเรือน แต่ไม่รู้นำไปใช้ประโยชน์
ผมมั่นใจว่า ชาวบ้านทุกคนมีทักษะการทำบัญชีครัวเรือนอย่างมาก ดูจากการลงพื้นที่หลายชุมชน เมื่อพูดถึงเรื่องการทำบัญชี สีหน้าแต่ละคนเหมือนอยากกลับบ้านไปนอน เคยโดนถามแรงในเวทีเหมือนกันนะ
อาจารย์ทำบัญชีพอสรุปตัวเลขเห็นแล้วท้อไม่มีกำลังใจ อาจารย์ทำไมขั้นตอนนี้ถึงไม่เหมือนกันกับหน่วยงานนั้น อาจารย์เอาข้อมูลบัญชีไปใช้ประโยชน์ยังไง นำไปกู้เงินมาลงทุนได้ไหม
พอเจอเหตุการณ์แบบนี้คุณคิดว่า คนรุ่นใหม่วัย 30 ปี จะรู้สึกยังไง มุมหนึ่งผมคิดว่า คงเป็นมรดกการพัฒนา ที่สะสมมานานเกือบ 60 ปี อีกมุมคิดว่า ชาวบ้านกำลังระบายความในใจ เพื่อสื่อสารปรากฏการณ์ วังวนการเพิ่มทักษะบัญชีครัวเรือน ที่ไม่รู้ว่าจะเอาข้อมูลมาใช้ประโยชน์ ด้านไหนได้ในชีวิต ผมว่าเป็นปัญหาระดับชาติจริง ๆ
"ทำไม" ต้องทำบัญชีหลายรอบ เป็นคำถามเกิดขึ้นในหัว จึงสู่การหาคำตอบ กับชุมชนเห็ดบ้านบะหว้า โดยการยกระดับทักษะการเงินชุมชน คือ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตัดสินใจ ในการลงทุน มีแผนการลงทุน เข้าใจแผนความเสี่ยง ใช้ประโยชน์เพื่อธุรกิจชุมชน
กลยุทธ์ต่อยอดบัญชีกลุ่ม
ในปฏิบัติการโมเดล ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ ผมออกแบบรายการบันทึกบัญชีเพาะเห็ด ได้แก่ รายรับ-รายจ่าย ปริมาณเห็ดเกิดดอก (แยกชนิด) แรงงาน ต้นทุน ลูกค้า คืออยากรู้ว่า มีกำไร/ขาดทุน อัตราเกิดดอก ใช้เป็นข้อมูลตัดสินใจลงทุนต่อ ควรเพาะเห็ดชนิดไหน จำนวนก้อนที่เหมาะกับแรงงาน หรือผู้บริโภคต้องการ และต้องลงทุนเท่าไหร่
กลยุทธ์ที่นำมาใช้กับชุมชน คงไม่ถึงคุมบัญชีกิจการขนาดนั้น แค่อธิบายเป้าหมายทำบัญชีกิจการเห็ด ดังนั้นผมให้แต่ละกลุ่มลงบัญชี รายรับ - รายจ่าย ตามที่เคยทำแบบไหนให้ทำแบบนั้นก่อน หลักการเดียวกัน บวกรายรับ ลบรายจ่าย แล้วค่อยเพิ่มรายการอื่น ๆ ที่หลัง
ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจบ้านบะหว้า โดยคุณยายตุ้ม ทำรายการบัญชีแยกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ บัญชีรายรับ บัญชีรายจ่าย บัญชีแรงงาน สรุปยอดมีรายรับ 9,000 บาท ราย 4,000 บาท แรงงานประมาณ 10 คนต่อวัน
ผมชวนคุณยายตุ้ม บันทึกปริมาณเห็ดเกิดดอกในแต่ละวันย้อนหลัง ผ่านไปไม่นานได้ยอดสรุป โรงเรือนเห็ดนางฟ้า 3,500 ก้อน เปิดดอก 20 วัน เก็บดอกได้ 110 ก.ก มียอดขาย 9,000 บาท จึงพาวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า เห็ดเดือนแรกมีอัตราเกิดดอก 300 กรัมต่อก้อน ถ้าดูแลให้เกิดดอกคงที่ 4 เดือน จะได้เงิน 40,000 บาท
พอเห็นตัวเลขแล้วรู้สึกมีกำลังใจมาก ใช้แค่ข้อมูลรายรับ - รายจ่าย + ปริมาณ ยังได้ขนาดนี้ ถ้านำข้อมูลแรงงาน ลูกค้า หรืออื่น ๆ สามารถทำแผนการเงินได้เลย จริง ๆ แล้วบัญชีมีความสำคัญมาก ใช้วางแผนกิจการ รายงานการเงินความโปร่งใส่กับหุ้นส่วน ใช้คำนวนภาษี ชุมชนเริ่มต้นได้ขนาดนี้สุดยอดแล้ว
![]() |
ภาพจากงานวิจัยโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง |
ชุมชนเรียนรู้ระบบผลิต และยกระดับบัญชีด้านธุรกิจ
ความจริงชุมชนบะหว้า กำลังอยู่ในขั้นตอนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ว่าทำอาชีพเพาะเห็ดจะได้กำไรจริง ๆ ไหม เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเสี่ยง ครั้งแรกขอแค่เหลือทุนไว้ต่อยอดรอบต่อไป คือเป้าหมายบ้านบะหว้า ส่วนตลาดขายได้ไม่เพียงพอความต้องการลูกค้า
พร้อม ๆ กับทำบัญชีและตัดสินใจจากตัวเลขข้อมูล ซึ่ง คุณยายได้ตอบว่า "ขอบคุณนะคะที่ช่วยชี้ช่องทางให้ชุมชนก้าวเดินขึ้นไปอีกขั้น" ผมว่า "แท้จริงเป็นศาสตร์ที่ชุมชนมีพื้นที่ ผมมาศึกษาแล้วต่อยอดให้เหมาะกับอาชีพเพาะเห็ด"
ทักษะต่าง ๆ ซึ่งผมย้ำอีกครั้งว่าชุมชนมีองค์ความรู้ อยู่ที่นักพัฒนาจะเข้าถึงจุดที่จะเสริมพลัง วิชาเหล่านั้นได้อย่างไร ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลในปัจจุบันมีโปรแกรม หรือเรียกว่า AI ก็ได้ เพียงแค่นำข้อมูลเข้า แล้วสามารถสรุปผล ตามที่เราต้องการได้
เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
งานวิจัยเข้ามา ยกระดับจริง ๆ
ตอบลบขอบพระคุณที่ติดตามครับ
ลบ