"เกษตรมูลค่าสูง" กับโมเดลแก้จนชาวสกลนคร



โมเดลแก้จน “เกษตรมูลค่าสูง” เป็นโครงการปฏิบัติการแก้จนระดับพื้นที่ ช่วยเหลือคนจนหรือครัวเรือนยากจน อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร โดยทีมนักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร เป้าหมายสร้างอาชีพ มีผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโมเดล ทั้งด้านเศรษฐกิจ รายได้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม ในระบบการผลิตเกษตรมูลค่าสูง

"การทำเกษตรมูลค่าสูงกับครัวเรือนยากจน ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการเพิ่มมูลค่า ด้านราคาที่สูงขึ้นเท่านั้น ยังหมายความรวมถึง การเกษตรที่ก่อให้เกิดผลในเชิงคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นการผลิตที่ต้นทุนต่ำ และไม่จำเป็นต้องผูกขาดกับนายทุน" อ.สายฝน ปุนหาวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัยโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง

อ.สายฝน ปุนหาวงศ์

อ.สายฝน ปุนหาวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัย และทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวว่า เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 – 2566 (สิ้นสุด31มี.ค.2567) ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ขับเคลื่อนงานในโครงการ “การพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน” ร่วมกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ และบูรณาการกับนโยบาย “อำเภอบำบัดทุกข์บำรุงสุข” อำเภออากาศอำนวย ตามโครงการ “การพัฒนาความเป็นอยู่ สู่ความสุขอย่างยั่งยืน ด้วยวิถีพอเพียง”

มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นำนักศึกษา “วิศวกรสังคม” ร่วมพัฒนาโจทย์การวิจัยแก้จนแบบมีส่วนร่วม และปฏิบัติการโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูงในพื้นที่ จำนวน 3 โมเดล ประกอบด้วย 

ออกแบบโมเดลให้สอดคล้องกับความต้องการคนจนและบริบทพื้นที่ (คน งาน เงิน) มีกลุ่มเป้าหมายครัวเรือนยากจนได้รับผลประโยชน์จำนวน 385 ครัวเรือน รายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในกระบวนการผลิตจำนวน 11 ชิ้นงาน
"เกษตรมูลค่าสูง" กับโมเดลแก้จนชาวสกลนคร
นักศึกษาวิศวกรสังคม ม.ราชภัฏสกลนคร ร่วมปฏิบัติการแก้จน

นิยามความหมาย “เกษตรมูลค่าสูง”

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ทีมนักวิจัยจาก บพท. จัดเวทีวิชาการสังเคราะห์บทเรียนสู่การสร้างองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนการเกษตรสร้างมูลค่าเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน สรุปการนิยามความหมาย "เกษตรมูลค่าสูง" ได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

เกษตรมูลค่าสูง เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเดิมมักจะขายในรูปแบบวัตถุดิบทำให้ได้รับราคาที่ต่ำ เป็นการนำผลิตผลทางการเกษตรมาแปรสภาพจากลักษณะเดิม ด้วยกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน โดยอาจเกิดจากการแปรสภาพตามธรรมชาติให้ต่างจากเดิมเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค มีทั้งสินค้าเกษตรด้านที่ไม่ใช่อาหารและด้านอาหาร หรืออีกนัยยะหนึ่ง เป็นการทำให้สินค้าจากภาคการเกษตรมีราคาที่สูงหรือ “ทำน้อย ได้ราคาที่มากขึ้น” นั่นเอง

เกษตรมูลค่าสูง มีแนวทางการพัฒนาภาคการเกษตร มุ่งเน้นในการพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ เพื่อการเพิ่มมูลค่าผลผลิตต่อหน่วย ผลิตที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ระดับกลางน้ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยี/นวัตกรรม ที่มีความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย และกิจกรรมการผลิตนั้น ๆ ส่วนในระดับปลายน้ำ มีการใช้แนวความคิดเชิงสร้างสรรค์ ในการแปรรูปที่หลากหลายและการสร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น รวมทั้งการหาตลาดหลายระดับเพื่อให้เข้าถึง ผู้บริโภคได้อย่างหลากหลายและครอบคลุม ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับรายได้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือนเกษตรกรในที่สุด

"เกษตรมูลค่าสูง" กับโมเดลแก้จนชาวสกลนคร


การพัฒนาโมเดลแก้จนตามบริบทพื้นที่

ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและประชากรอำเภออากาศอำนวย แผนพัฒนาอำเภออากาศอำนวย (ปี 2566) มีรายงานจำนวนประชากรทั้งหมด 72,033 คน สนง.สถิติจังหวัดสกลนคร สรุปข้อมูลอำเภออากาศอำนวยผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ปี 2566) มีจำนวน 18,856 คน ในระบบข้อมูล TPMAP (ปี 2566) มีคนจนเป้าหมายจำนวน 24 คน ข้อมูล จปฐ. (ปี 2565) ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 63,650 บาท/คน/ปี หรือ 5,304 บาท/คน/เดือน คิดเป็นวันละ 176 บาทต่อคน

ข้อมูลฐานทุนการดำรงชีพครัวเรือนยากจน ตามแนวคิดการดำรงชีพอย่างยั่งยืน (SLF) 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนกายภาพ ทุนการเงิน ทุนธรรมชาติ และทุนสังคม จากระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ อำเภออากาศอำนวย (กำลังอยู่ระหว่างสอบทานในพื้นที่ พ.ย.2566) มีข้อมูลในเบื้องต้น 

  • ครัวเรือนยากจน จำนวน 347 ครัวเรือน มีสมาชิกอาศัยอยู่ 1,222 คน แบ่งตามช่วงอายุ วัยเด็ก ร้อยละ 12.90 วัยแรงงาน ร้อยละ 64.52 วัยสูงอายุ ร้อยละ 22.58 
  • ข้อมูลการทำงาน มีคนไม่ได้ทำงาน ร้อยละ 37.52 คนว่างงาน ร้อยละ 11 คนมีงานทำ ร้อยละ 51.48 
  • ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 64.59 รับจ้างรายวันนอกภาคการเกษตร ร้อยละ 15.69 ลูกจ้างโรงงาน/บริษัท ต่างจังหวัด ร้อยละ 11.68 และมีอาชีพอื่น ๆ ร้อยละ 6.58

"เรามีวัฒนธรรมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทุกกิจกรรมอาชีพผู้คนมีฝีมือมีทักษะ ทั้งด้านเกษตรกรรมและหัตถกรรม แต่มีจุดด้อยตรงที่เราขาดนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งในส่วนนี้ต้องอาศัยความรู้ความร่วมมือกับ ม.ราชภัฏสกลนคร ที่ช่วยต่อยอดหนุนเสริมการผลิต การแปรรูปและช่องทางจำหน่าย ถ้าบริหารจัดการได้เองทั้งระบบ เกษตรกรเราจะลืมตาอ้าปากได้อย่างสง่างาม" นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย ในงาน Poverty Foresight 18ม.ค.67
นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย


ข้อมูลเศรษฐกิจและความหนาแน่นปัญหา

ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ อำเภออากาศอำนวย สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจัดกลุ่มครัวเรือนตามเส้นแบ่งความยากจน (Poverty Line) เพื่อดูความหนาแน่นของปัญหา พบว่า ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ย 3,094.20 บาท/คน/เดือน หรือวันละ 103 บาท ครัวเรือนมีหนี้สินคงค้าง ร้อยละ 51.76 จำแนกครัวเรือนตามเส้นแบ่งความยากจน 4 ระดับ ประกอบด้วย

  • ระดับ 1 กลุ่มมีรายได้น้อยกว่าเส้นความยากจน (<2,762 บาท/คน/เดือน) มีสัดส่วนครัวเรือนหนาแน่น ร้อยละ 60.49 
  • ระดับ 2 กลุ่มมีรายได้มากกว่าเส้นความยากจนน้อยกว่า 40% ที่จนที่สุด (2,763 - 5,346 บาท/คน/เดือน) มีสัดส่วนครัวเรือนหนาแน่น ร้อยละ 23.71 
  • ระดับ 3 กลุ่มมีรายได้มากกว่า 40 % ที่จนที่สุดน้อยกว่าเส้นมัธยฐาน (5,347 - 6,531 บาท/คน/เดือน) มีสัดส่วนครัวเรือนหนาแน่น ร้อยละ 3.95 
  • ระดับ 4 กลุ่มที่มีรายได้มากกว่าเส้นมัธยฐาน (>=6,532 บาท/คน/เดือน) มีสัดส่วนครัวเรือนหนาแน่น ร้อยละ 11.25

ข้อมูลด้านศักยภาพแรงงาน

บพท. นิยาม “คนจน” คือกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่า 2,802 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 33,624 บาทต่อคนต่อปี ตามกระทรวงการคลัง (ปี2565) นอกจากนี้ยังได้นิยามรวมถึง “ชีวิตความเป็นอยู่ที่ขาดแคลน” ทุนพื้นฐานในการดำรงชีพ ที่ส่งผลให้ครัวเรือนมีโอกาสในการสร้างทางเลือก หรือกลยุทธ์ในการดำรงชีวิตอย่างจำกัด โดยแบ่งคุณลักษณะออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ อยู่ลำบาก อยู่ยาก อยู่พอได้ และอยู่ดี จากนั้นทีมปฏิบัติการโมเดลได้วิเคราะห์ศักยภาพแรงงานตามลักษณะครัวเรือน 4 กลุ่ม

  1. อยู่ลำบาก เป็นกลุ่มที่มีความขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในชีวิต ต้องดำเนินการเข้าสู่ระบบสวัสดิการโดยเร่งด่วน ศักยภาพการประกอบอาชีพ ไม่มีแรงงาน ไม่ได้ประกอบอาชีพ ร่างกายไม่แข็ง แรงงานบางคนมีสภาวะจิตใจไม่พร้อม 
  2. อยู่ยาก เป็นกลุ่มที่มีปัจจัยพื้นฐานที่เพียงพอสำหรับดำรงชีวิตอยู่ในแต่ละวัน ซึ่งต้องเร่งดำเนินการจัดหาปัจจัยดำรงชีพ หรือยกระดับความสามารถในการจัดหาปัจจัยดำรงชีพของตนเองให้พออยู่ได้ ศักยภาพการประกอบอาชีพ แรงงานมีน้อย รับจ้างรายวัน ดิ้นรนหาเช้ากินค่ำ หยุดทำงานเพื่อมาพัฒนาศักยภาพลำบาก ต้องการความมั่นใจลงมือสิ่งใดแล้วท้องจะไม่แห้ง 
  3. อยู่พอได้ เป็นกลุ่มที่มีฐานทุนสำหรับการดำรงชีพ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะอยู่รอดได้อย่างปลอดภัย หากประสบกับภาวะความแปรปรวนต่าง ๆ จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกัน และยกระดับความเป็นอยู่ให้หลุดพ้นจากสภาวะขาดแคลน/เปราะบาง ศักยภาพการประกอบอาชีพ มีทุนดำรงชีพแต่ยังไม่มากพอ มีแรงงานทำอาชีพหลักตนเอง และรับจ้างรายวัน 
  4. อยู่ดี เป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่อสภาวะความแปรปรวน/ความเสี่ยงต่าง ๆ มีทุนในด้านต่าง ๆ ที่เพียงพอในการวางแผนอนาคตของตนเอง ครอบครัว และเป็นฐานทุนในระดับชุมชนได้ ศักยภาพการประกอบอาชีพ มีเงินทุนหมุนเวียนประกอบอาชีพ มีกิจกรรมการผลิตต่อเนื่อง แรงงานมากกว่า 2 คน


การมีอาชีพการมีงานทำ

จากเสียงสะท้อนในพื้นที่ปฏิบัติการอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ชาวบ้านประกอบอาชีพ ทำนาข้าว มันสำปะหลัง สวนยางพารา ส่วนใหญ่เป็นการเกษตรในระยะยาว ใช้แรงงานหนัก ลงทุนสูง ได้กำไรน้อยหรือเสี่ยงขาดทุน กิจกรรมการผลิตจึงเน้นเพื่อบริโภคสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครัวเรือน

ช่วงที่ไม่ได้ทำงานในอาชีพหลัก มีวิธีหาเงินจากการรับจ้างรายวันหมุนเวียนไปแต่ละเดือน อาจมองว่ามีงานทำตลอด แต่รายได้มีมูลค่าลดลง เพราะค่าครองชีพแพงต้องจ่ายมากขึ้น เงินออมที่มีอยู่คือกองทุนฌาปนกิจและการสัตว์เลี้ยง (วัว-ควาย) มีความเสี่ยงสูงเมื่อสัตว์เลี้ยงตาย

ไม่มีเงินเก็บให้ใช้ในยามหมดแรงทำงานหรือในตอนฉุกเฉิน เงินหมุนเวียนมีอย่างน้อยนิด จึงไม่กล้าเสี่ยงลงทุนทำอาชีพเพิ่ม แต่เมื่อมีโอกาสสนใจเข้าไม่ถึงแหล่งทุน ส่วนมากจะกู้เงินนอกระบบจากเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้การไม่มีงานในพื้นที่ทำให้ออกไปรับจ้างต่างถิ่น เป็นสาเหตุหนึ่งที่เกิดปัญหาครัวเรือนในอนาคต เช่น ถ้าสามีหรือภรรยาไปคนเดียวอาจเกิดปัญหาหย่าร้าง หรือถ้าไปทั้งคู่นำลูกให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดูอาจเกิดสภาวะครัวเรือนแหว่งกลาง เป็นปัจจัยเกิดปัญหาทางสังคมอื่น ๆ ตามมา

คุณเบญจภรณ์ อ่อนสุระทุม
"คนจนมีข้อจำกัดหลายอย่าง ที่สำคัญคือการขาดแคลนเงินหมุนเวียนประจำวัน จำเป็นต้องทำอาชีพที่สร้างรายได้อย่างรวดเร็ว การพัฒนาให้ชุมชนเป็นผู้ประกอบการแล้วนำคนเข้าสู่ระบบผลิต เป็นแนวทางหนึ่งที่ในการส่งเสริมอาชีพเพื่อแก้ปัญหาความยากจน สำหรับกลุ่มที่จะเป็นผู้ประกอบการในแต่ละชุมชน เช่น กลุ่มบทบาทสตรี คณะกรรมการหมู่บ้าน กลุ่มอาชีพที่สนใจ" คุณเบญจภรณ์ อ่อนสุระทุม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สนง.เกษตรอำเภออากาศอำนวย (29ก.ย.66)

จากข้อมูลครัวเรือนยากจนและการแบ่งกลุ่มคนจนตามเงื่อนไขต่าง ๆ เป็นข้อมูลชี้เป้าหมายเพื่อจัดสรรโครงการช่วยเหลือกลุ่มที่ขัดสนก่อนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สอดคล้องกับที่ชาวบ้านให้ข้อมูลว่าในด้านสงเคราะห์ควรแก้ไขปัญหาครัวเรือนขัดสน แต่ด้านพัฒนาอาชีพหรือโครงการยกระดับเศรษฐกิจ ชาวบ้านกลับมองว่าคนจนถูกจำแนกว่าไม่มีศักยภาพ ส่วนใหญ่แล้วจะได้รับสนับสนุนอาชีพเพื่อการลดค่าใช้จ่าย

ตามวิถีชุมชน ยังเป็นแบบเครือญาติวงศ์ตระกูล มีการช่วยเหลือดูแลเกื้อกูลกัน จึงบ่งชี้ถึงทุนสังคมว่ามีความสัมพันธ์พึ่งพาอาศัยกัน กล่าวคือ การปฏิบัติการโมเดลแก้จน เห็นควรส่งเสริมช่วยเหลืออาชีพอย่างถ้วนทั่ว ด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจในชุมชนไม่แตกต่างกันมาก เพราะเครือญาติมีผลต่อกระเป๋าเงินครัวเรือนยากจน

อีกทั้งจะทำให้ครัวเรือนเครือญาติ ไม่รู้สึกว่ารัฐสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะได้รับการช่วยเหลือส่งเสริมอาชีพด้วย ไม่มีการบ่นกล่าวโทษโครงการด้านยกระดับอาชีพเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไปพร้อมด้วย ปฏิบัติการโมเดลครั้งนี้ ได้แก้ไขโครงสร้างการช่วยเหลือด้านส่งเสริมอาชีพ ให้ความเหลื่อมล้ำลดน้อยลง


เกษตรมูลค่าสูงกับโมเดลแก้จน

นักวิจัยได้นิยามศัพท์ปฏิบัติการคำว่า เกษตรมูลค่าสูง คือ ระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย มีมาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาด มีคุณค่าทางโภชนาการ ตั้งแต่กระบวนการต้นทาง กลางทาง ปลายทาง (การผลิต แปรรูป การตลาด) โดยมิได้เพียงมุ่งเน้นมูลค่าในด้านราคาที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่เกษตรมูลค่าสูง ยังหมายความรวมถึง การเกษตรที่ก่อให้เกิดผลในเชิงคุณค่าไม่ว่าจะเป็นการผลิตที่ต้นทุนต่ำและไม่จำเป็นต้องผูกขาด การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม (Profit Sharing) ให้กับเกษตรกร

นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงสุขภาพของเกษตรกรในการผลิตด้วยเกษตรกรรมยั่งยืนที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจ สุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (เศรษฐกิจ BCG) ซึ่งต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วยกันเพื่อให้เกิดความสมดุล และนำไปสู่เป้าหมายดังนี้

  • เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม
  • เพื่อมุ่งให้เกิดความกินดีอยู่ดี คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขด้วยวิถีชีวิตวัฒนธรรม
  • เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
  • เพื่อสร้างความั่นคงทางรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ผลิต
  • เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยการกระจายรายได้ด้วยการผู้มีรายได้น้อยเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่มูลค่าการผลิต


ปฏิบัติการโมเดลเกษตรมูลค่าสูง พัฒนาอาชีพสอดคล้องกับการดำรงชีพและสร้างรายได้ในครัวเรือน 3 ระยะ คือ ระยะสั้นอาชีพเพาะเห็ด ระยะกลางอาชีพด้านสมุนไพร ระยะยาวอาชีพทำนา

ดร.แมน ปุโรทกานนท์
"การทำเรื่องแก้จนไม่ใช่การมาทำแค่โครงการให้มีรายได้อย่างเดียว สิ่งที่กำลังทำกลุ่มเห็ดเกิดจากแรงบันดาลใจอยากช่วยให้ชุมชนมีรายได้ กลุ่มนาปรังมีอัตลักษณ์ชุมชนดงสารมีเสน่ห์และโรแมนติก ควรจะได้รับการเปิดเผยผลงานวิชาการในวงกว้าง" ดร.แมน ปุโรทกานนท์ หัวหน้านักวิจัยทีมกลาง บพท. (13ต.ค.66)


โมเดล “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ”

คือการพัฒนาและยกระดับชุมชนเป็นอุตสาหกรรมการผลิต (Local Business) ส่งเสริมกลุ่มผลิตเห็ดโดยชุมชนเป็นเจ้าของกิจการ สร้างกลไกความร่วมมือบนระบบนิเวศน์ห่วงโซ่อุปทานเห็ดให้มีเสถียรภาพ เชื่อมโยงกับครัวเรือนเป้าหมาย ชุมชน กลุ่ม/กิจการ และผู้ประกอบการ บริหารจัดการกลุ่มด้วยตัวแบบงานบุญประเพณีวัฒนธรรมในชุมชน มีผู้นำกลุ่มที่เข้มแข็งเป็นนักปราชญ์บริหารงานเป็นที่ยอมรับ

โดยมีวิสาหกิจชุมชน “เป็นพี่เลี้ยง” หรือ Node ถ่ายทอดองค์ความรู้ทักษะการเพาะเห็ด พร้อมทั้งใช้งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต ส่งมอบคุณค่าก้อนเชื้อเห็ดไป “เปิดดอกเห็ด” ยังกลุ่มชุมชน และติดตามดูแล

พัฒนาและยกระดับห่วงโซ่การผลิตเห็ด "ผู้เปิดดอก" โดยรวมกลุ่มหมู่บ้านละ 30 ครัวเรือน เป็นอย่างน้อย เข้าร่วมเป็นแรงงานในกิจการกลุ่มชุมชน สร้างเศรษฐกิจชุมชนและสวัสดิการชุมชนเกื้อกูลคนฐานราก เพื่อบรรเทาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ สู่การยกระดับฐานะทุนเศรษฐกิจและเข้าถึงโอกาสทางสังคม

จำนวนผู้ได้รับประโยชน์ 280 ครัวเรือน (ข้อมูล ธ.ค.2566) พื้นที่ดำเนินการ ตำบลโพนงาม ตำบลโพนแพง ตำบลบะหว้า อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร

นายประพงค์ ผายทอง
"วิสาหกิจชุมชนฯ มีสมาชิกที่ชำนาญในการผลิตเห็ด ผมเห็นว่าเป็นโครงการสร้างอาชีพให้กับผู้ที่ตกงานในชุมชน อยากช่วยเหลือชุมชนสังคมให้มีอาชีพ จึงตอบรับข้อตกลงผลิตในราคาต้นทุนก้อนละ 5 บาท พร้อมทั้งเป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กลุ่มเพาะเห็ดใหม่ และอุปกรณ์เทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ได้รับสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ โดยการระดมแรงงานแต่ละกลุ่ม เข้ามาอัดก้อนเห็ดนำไปเปิดดอก" นายประพงค์ ผายทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านกลาง (6ต.ค.66)

แม่ประภา แดนนาบัว
"การเพาะเห็ดเป็นอาชีพที่ทำให้มีรายได้ทุกวัน ได้วันละ 5-10 โล ขายในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน และมีแม่ค้าซื้อไปทำอาหารขายอีกที ได้จัดทำบริหารบัญชีกลุ่มตามที่นักวิจัยแนะนำ มีเงินทุนเหลือในการผลิตครั้งต่อไปประมาณ 15,000 บาท ซึ่งวางแผนจะเริ่มอัดก้อนรอบใหม่ กับวิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดไร้สาร บ้านเสาวัด ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ มีชาวบ้านสนใจอยากเข้าร่วมการเพาะเห็ด และในอนาคตอยากขยายเป็นผู้อัดก้อนเอง" แม่ประภา แดนนาบัว ตัวแทนกลุ่มอาชีพเพาะเห็ดบ้านโพนงาม (13ต.ค.66)

เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

มีรายได้เร็วภายในหนึ่งเดือนมีเงินหมุนเวียนทุกวัน แก้ปัญหาไม่มีงานทำและลดรายจ่าย เกิดกลุ่มธุรกิจในชุมชนบริหารจัดการรูปแบบอุตสาหกรรมในชุมชน (Local Business) ลดต้นทุนลง 50 % จากซื้อก้อนละ 10 บาทเหลือ 5 บาท มีกำลังผลิตรวมมากกว่า 100,000 ก้อนต่อรอบผลิต 4 เดือน จะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในอำเภออากาศอำนวย มูลค่า 1,814,000 บาท ดำเนินงานด้วยโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมมีแผนการลงทุน เกิดการบริหารความคาดหวังและการบริหารความเสี่ยง สอดคล้องกับโมเดล BCG เพาะเห็ดจากฟางข้าวเสริมธาตุสิลิเนียนสามารถนำก้อนเชื้อเห็ดเก่าไปทำสารปรับปรุงดิน ร่วมมือกับชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดสกลนคร ส่งเสริมทักษะอาชีพ เพื่อฟื้นฟูศักยภาพ พัฒนาร่างกายและจิตใจ

เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใช้

เทคโนโลยีหม้อนึ่งแรงดันไอน้ำอุณหภูมิคงที่ 100 องศาฯ ช่วยลดการสูญเสียในก้อนเห็ดร้อยละ 99, เทคโนโลยีตู้เขี่ยเชื้อเห็ดบริสุทธิ์, เทคโนโลยีโรงเรือนเพาะเห็ดระบบน้ำพ่นฝอย, เทคโนโลยีการเพาะเห็ดจากฟางข้าวเสริมธาตุสิลิเนียน ช่วยการเกิดดอกได้เร็ว 20 วันได้จำหน่าย และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ สร้างภูมิคุ้มกัน, Web Application “ตามปลูก ตามเก็บ”, นวัตกรรมการเรียนรู้ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ

(ที่มา : www.1poverty.com สืบค้นวันที่ 3มี.ค.67)

เห็ดนางฟ้าจากฟางข้าว โค้งคำนับฟาร์ม


โมเดลคลังเมล็ดพันธุ์ข้าว

คือการพัฒนาอาชีพทำนาปรังเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ ช่วยลดต้นทุนการผลิตซื้อเมล็ดพันธุ์ และมีโอกาสใหม่แปรรูปข้าวเม่า พร้อมทั้งเตรียมพัฒนาสู่ท่องเที่ยวชุมชน “พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต” ร่วมกับ Local Alike (กิจการเพื่อสังคม) มีจำนวนผู้ได้รับประโยชน์ 75 ครัวเรือน พื้นที่ดำเนินงาน ตำบลโพนงาม ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร

"ม.ราชภัฏสกลนคร เข้ามาศึกษาวิจัยหารือกับชาวบ้าน จึงเสนอให้แก้ปัญหาเรื่องคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้เสี่ยวแนะนำเทคโนโลยีตะแกรงร่อนคัดคุณภาพเมล็ดข้าวก่อนนำไปหว่าน ตอนแรกผมอยู่ห่าง ๆ นั่งฟังแล้วเข้าหูเลยสนใจ จึงตกลงเป็นเสี่ยวกันแลกเทคโนโลยี หลังจากนำไปทดลองใช้ประโยชน์ เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ต้นข้าวแตกกอมากขึ้นได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น นึ่งทานได้หอมนุ่มเหมือนข้าวนาปี จึงชวนชาวบ้านมาคัดเมล็ดข้าวก่อนนำไปหว่านนาปรัง" นายณัฐฏพล นิพันธ์ กลุ่มทำนาปรัง (1ก.พ.67)

นายณัฐพล นิพันธ์
"การทำนาปรังเป็นทางรอด ช่วยครัวเรือนลดรายจ่ายการซื้อข้าวได้ครึ่งหนึ่ง พื้นที่ชนบทบ้านดงสารไม่มีทางเลือกมาก อาชีพเสริมต่าง ๆ ทำได้แค่เหมาะสมกับกำลังซื้อของชาวบ้าน จึงเกิดแนวคิดอยากพัฒนาทุ่งพันขันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ น่าจะมีผู้คนเข้ามาซื้อสินค้าและบริการในชุมชน" ครูสุวรรณ บงศ์บุตร ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มนาปรังมูลค่าสูง (18ส.ค.66)

ครูสุวรรณ บงศ์บุตร
คุณสมศักดิ์ บุญคำ
"ที่นี่สมบัติของประเทศไทยเราจริงๆนะครับ ดงสาร สกลนคร ผมว่าเขาคือ "พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต" พื้นที่ชุ่มน้ำ ผืนเกษตรกรรมและประมงท้องถิ่นที่ใหญ่หลายพันไร่ ตรงนี้คือแหล่งเรียนรู้เรื่องเกษตร และแหล่งศึกษาธรรมชาติชั้นดีเลยครับ ทำใมที่นี่น่าค้นหาจังนะ..? ที่ยังคงเป็นแบบนี้ได้ แน่นอนครับคนในชุมชนนี้ต้องมีดีแน่ๆ ต้องรักและรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ของเขามากแน่ๆ แล้วใครกันนะ..? และบ้านดงสารมีคำตอบให้ผมหมดเลยครับ ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีโอกาสที่จะพัฒนาและส่งเสริมผมว่าที่นี่คือคำตอบครับ อยากชวนทุกคนให้ช่วยกันครับ สำหรับผม การมาเยือนดงสาร คงไม่ใช่แค่ครั้งแรกและครั้งเดียวแน่ ๆ ครับ" คุณไผ สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้ง Local Alike (FB นักพัฒนาพาเที่ยว 9ก.ย.66)

เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ ช่วยลดต้นทุน มีเป้าหมายผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้ในพื้นที่ 4,000 ไร่ ด้วยทรัพยากรที่สมบูรณ์เชื่อมโยงโอกาสใหม่เตรียมพัฒนาเป็นท่องเที่ยวชุมชน “พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต” ร่วมกับ Local Alike (กิจการท่องเที่ยวชุมชนโดยชุมชนอย่างยั่งยืน)

เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใช้

ได้แก่เทคโนโลยีตะแกรงร่อนคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ, เทคโนโลยีการแปรรูปข้าวเม่า, นวัตกรรมการท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครนำนักศึกษาวิศวกรสังคม ร่วมปฏิบัติการ นำเครื่องมือฟ้าประทานสู่การช่วยเหลือราษฎร

(ที่มา : www.1poverty.com สืบค้นวันที่ 3 มี.ค.67)

นาข้าว บ้านดงสาร


โมเดลสมุนไพรบรู (ทุนวัฒนธรรม)

คือการยกระดับรายได้ครัวเรือนด้วยการพัฒนาอาชีพแปรรูปสบู่จากสมุนไพรในชุมชน เพื่อสร้างโอกาสทางสังคมชาติพันธุ์ "ไทบรู" โดยใช้ทุนวัฒนธรรม เริ่มจากความต้องการเป็นอัตลักษณ์นั้นคือ "สมุนไพร" ที่ชาวบรูทุกคนยอมรับ ให้รู้คุณค่ากับสิ่งที่มีอยู่คือการนำสมุนไพรมาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมีกลไกสำคัญ คือ โรงเรียนบ้านคำแหว ในการขับเคลื่อนทั้งองค์ความรู้และการบริหารจัดการ มีจำนวนผู้ได้รับประโยชน์ 30 ครัวเรือน พื้นที่ดำเนินงาน ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

นายปาว วาริคิด
"การสืบทอดสมุนไพรถึงปัจจุบัน จากการล่าสัตว์หรือนายพราน จะมีผู้นำพรานที่รู้สูตรยาให้สัตว์อ่อนแรง เตรียมสำรองใส่กับลูกศรมีขนาดต่างกัน เจอสัตว์ใหญ่ต้องใช้ยามากขึ้นหรือยิงซ้ำ การเดินป่าจะปวดกล้ามเนื้อระหว่างทางใช้สมุนไพรสดๆ หาริมทางได้เลย" นายปาว วาริคิด ปราชญ์ชุมชนด้านสมุนไพร บ้านคำแหว (3พ.ย.66)

เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

กลุ่มชาติพันธุ์ไทบรูเข้าถึงโอกาสทางสังคมด้วยความภาคภูมิอย่างมีศักดิ์ศรี

ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม 

ได้แก่เทคโนโลยีการแปรรูปสบู่สมุนไพรบรู นวัตกรรมการสร้างโอกาสไทบรูด้วยทุนวัฒนธรรม

(ที่มา : www.1poverty.com สืบค้นวันที่ 3 มี.ค.67)



นโยบาย “เกษตรมูลค่าสูง” ในประเทศไทย

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561 - 2580 ได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน มีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ลดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาประชากร เพื่อให้ได้รับ ผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน สร้างความเจริญทางรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่าง ต่อเนื่อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในภาคเกษตร ไปสู่สินค้าเกษตรและ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ได้กำหนดประเด็นสำคัญในด้านการสร้างเกษตรมูลค่าสูง 8 ประเด็น ดังนี้

  1. ปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการทำเกษตร มูลค่าต่ำและไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ไปสู่การปลูกพืช เลี้ยงปศุสัตว์และประมงที่มีมูลค่าสูง
  2. สนับสนุนการทำ การเกษตรแบบร่วมผลิตและร่วมจำหน่าย (เกษตรแปลงใหญ่ หรือสหกรณ์)
  3. ขยายพื้นที่ชลประทานให้เกษตรกรมีน้ำ ใช้สำหรับการผลิตสินค้าเกษตรอย่างเหมาะสม เพียงพอ ทั่วถึง และเป็นธรรม
  4. พัฒนาคลัสเตอร์พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และส่งเสริมให้มีความหลากหลายทางชีวภาพการเกษตร (Agricultural Biodiversity)
  5. พัฒนาสหกรณ์การเกษตร ให้มีความเข้มแข็งและส่งเสริมให้เกิดผู้ให้บริการด้านการจัดการเกษตรสมัยใหม่ (Service Provider) อย่างครบวงจร
  6. สร้างผู้ประกอบการเกษตร (Smart Farmer)
  7. ส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถเข้าถึงข้อมูล Big Data ด้านการเกษตร และใช้ประโยชน์จากดิจิทัลแพลตฟอร์ม
  8. เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร และเศรษฐกิจชีวภาพ ตามแนวทาง BCG

(ที่มา : https://www.opsmoac.go.th/km-km_article-files-441291791793 สืบค้นวันที่ 3 มี.ค.67)



เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ปี พ.ศ.2566
ติดตามได้ที่Onepoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ



{fullWidth}
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า