
สกลนครเผชิญปัญหาความยากจนซับซ้อน ครอบคลุม 4 มิติหลัก ได้แก่ ภูมิสังคม ภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐกิจ และภูมินิเวศ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ขาดแคลนทรัพยากร เทคโนโลยี และโอกาสทางเศรษฐกิจ
ความยากจนด้านภูมิสังคมในสกลนคร
สกลนครเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ถึง 8 กลุ่ม ได้แก่ ไทลาว ผู้ไท ไทญ้อ ไทไส้ ไทโย้ย ไทกะเลิง ชาวจีน และชาวญวนเชื้อสายเวียดนาม มีเขตการปกครอง 18 อำเภอ จากข้อมูลปี 2564 พบว่า มีจำนวนบ้านทั้งจังหวัด 387,699 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 1,146,658 คน มีคนจนและคนเปราะบาง จากฐานข้อมูลต่าง ๆ ดังนี้
- ระบบ TPMAP ปี 2567 ระบุว่ามีจำนวน 802 คน (ร้อยละ 0.07 ของประชากรทั้งจังหวัด)
- ระบบ MSO Logbook ปี 2567 ระบุว่ามีจำนวน 35,788 คน (ร้อยละ 3.12 ของประชากรทั้งจังหวัด)
- PPPConnext ปี 2563 - 2566 ระบุว่ามีจำนวน 53,794 คน (ร้อยละ 4.69 ของประชากรทั้งจังหวัด)
- ข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2566 มีจำนวน 259,550 คน (ร้อยละ 22.63 ของประชากรทั้งจังหวัด)
สถานการณ์ความยากจนด้านภูมิสังคมที่สำคัญ ได้แก่
โครงสร้างประชากรคนจนที่เป็นผู้สูงอายุ อาศัยอยู่กับหลาน หรือมีภาวะป่วย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาครัวเรือนแหว่งกลาง และคุณแม่วัยรุ่นที่มีอายุ 15 - 19 ปี ซึ่งมีอัตราการคลอดเฉลี่ย 3 คนต่อวัน ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้สถาบันครอบครัวอ่อนแอ และเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสังคมต่างๆ เช่น การหย่าร้าง และยาเสพติด
นอกจากนี้ ปัญหาค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่สูง เช่น ค่าเดินทาง และค่าชุดนักเรียน ทำให้สมาชิกในครัวเรือนจำนวนหนึ่งไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งส่งผลให้มีการจ้างแรงงานน้อย และไม่มีโอกาสเลือกอาชีพ ทำให้เกิดปัญหาคนจนข้ามรุ่น
ด้านสุขภาพ พบว่ามีผู้ป่วยสุขภาพจิต และผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีคนเร่ร่อนไร้บ้านมากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพิงรายได้จากสวัสดิการของรัฐเป็นหลัก
แนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ด้านภูมิสังคม
- พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยให้มีศักยภาพ พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง และสามารถใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจครัวเรือน
- จัดสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าสำหรับประชาชนทุกกลุ่มช่วงวัย โดยเฉพาะสวัสดิการด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต และด้านการแพทย์สาธารณสุข
- ขจัดปัญหายาเสพติด สร้างความเข้มแข็งให้สถาบันครอบครัว เพื่อนำไปสู่ชุมชนที่เข้มแข็ง สงบสุข และมีสันติภาพ

ความยากจนด้านภูมิรัฐศาสตร์ในสกลนคร
สกลนครเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น กรุงเทพ ฯ โดยมีระยะทางห่างกันประมาณ 650 กิโลเมตร ปัญหาความยากจนด้านภูมิรัฐศาสตร์ในสกลนคร ส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่งต่าง ๆ ที่ยังไม่เพียงพอ ทำให้คนจนไม่สามารถเข้าถึงตลาด และขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ การศึกษา และสุขภาพ
นอกจากนี้ คนจนยังไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ กฎหมาย และขาดความเข้าใจในหลักการและนโยบายของรัฐ ทำให้พวกเขามองว่าตนเองไม่มีศักยภาพ ไม่มีบทบาท และไม่มีโอกาสที่จะแสดงความคิดเห็นได้อย่างแท้จริง พวกเขารู้สึกว่าการมีส่วนร่วมของตนเองเป็นเพียงวาทกรรมในการของบประมาณเท่านั้น
แม้ว่าจะมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน แต่ก็ยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม และยังไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างแท้จริง
สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์เหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อความยากจนในหลายด้าน ได้แก่
- คนยากจนถูกเลือกปฏิบัติจากกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และการทุจริตเชิงนโยบาย และโครงการของรัฐ ซึ่งคนจนไม่กล้าต่อรองกับผู้มีอำนาจ
- มีการว่างงาน และคนจนไม่สามารถเข้าถึงการพัฒนาทักษะอาชีพด้วยเทคโนโลยี และปัจจัยการผลิต รวมไปถึงแหล่งเงินทุน
- เด็กรุ่นใหม่วัยแรงงานย้ายออกจากพื้นที่ไปทำงานต่างถิ่น ทำให้ชุมชนขาดความศรัทธาในการแก้ไขปัญหาความยากจน และไม่ให้ความร่วมมือในที่สุด
แนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ด้านภูมิรัฐศาสตร์
- สนับสนุนให้คนจนมีความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายภาครัฐ และเปิดพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และการร่วมกำหนดนโยบายของท้องถิ่น
- ส่งเสริมธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการของภาครัฐ ขจัดปัญหาคอร์รัปชัน โดยมีการได้มาซึ่งผู้นำชุมชนที่มีความเป็นธรรม มีศักยภาพในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ยึดถือหลักการในการทำงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเอง และมีความโปร่งใสในการทำงาน
- บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ทั่วถึง และเด็ดขาด สำหรับคนทุกกลุ่ม โดยไม่ละเว้น หรือสร้างความเหลื่อมล้ำในการใช้กฎหมายกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ความยากจนด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ในสกลนคร
สถานการณ์ความยากจนด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ในสกลนคร ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ซึ่งมีคนจนเป็นแรงงานอยู่ในภาคการเกษตรเป็นจำนวนมาก โดยคิดเป็นร้อยละ 25.7 ของจำนวนประชากรในจังหวัด ข้อมูลปี 2565 ระบุว่ามีมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP) 72,117 บาท/คน/ปี
ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญในจังหวัดสกลนคร ได้แก่ อ้อยโรงงาน ยางพาราแผ่นดิบ ข้าวนาปรัง/นาปี ข้าวโพด โคเนื้อ กระบือ และไก่เนื้อไก่ไข่
ปัญหาความยากจนด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่
- การเกษตรมีความล้าหลัง ทำตามวิถีเดิม ไม่ปรับเปลี่ยนแนวคิด เน้นผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน และพึ่งพาการประกันรายได้ และเงินชดเชยจากภาครัฐ
- แรงงานในภาคการเกษตรมีอายุเฉลี่ย 62.5 ปี ทำให้ยากต่อการรับเทคโนโลยีใหม่ๆ
- ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ราคาผลผลิตไม่เพิ่มขึ้น และมีความผันผวน
- อาชีพในพื้นที่ไม่หลากหลาย ทำให้คนจนไม่มีทางเลือก และขาดความมั่นคงด้านรายได้
- คนจนเป็นหนี้เกษตรจากการกู้เงินมาลงทุนในระบบผลิต และมีรายได้จากผลผลิตเท่าไหร่ ก็ต้องนำไปจ่ายดอกเบี้ยก่อน
- มีหน่วยงานที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมาหลอกให้คนในพื้นที่ลงทุน โดยให้เตรียมสถานที่ และร่วมเงินลงทุน
- นอกจากนี้ คนจนยังมีปัญหาด้านอุปโภคบริโภค เนื่องจากต้องจ่ายค่าสินค้าต่างๆ ในราคาแพง เพราะไม่มีเงินสดมากพอที่จะซื้อสินค้าเป็นแพ็ค หรือตามสัดส่วนที่จะได้รับส่วนลด และยังต้องซื้อสินค้าอำนวยความสะดวกในชีวิตด้วยเงินผ่อน ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงๆ เช่น เครื่องซักผ้า รถจักรยานยนต์ โทรศัพท์มือถือ และพัดลม
แนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ด้านภูมิเศรษฐศาสตร์
- สนับสนุนความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน โดยยกระดับคุณภาพของสินค้าทางการเกษตร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้สามารถเข้าสู่ตลาดของผู้บริโภคระดับสูง และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยชุมชน
- พัฒนาศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการให้กับประชาชน สนับสนุนความรู้ และการฝึกทักษะอาชีพที่มีความหลากหลาย และความรู้ของการทำธุรกิจ และการตลาดสมัยใหม่
- สนับสนุนปัจจัยการผลิต และต้นทุนในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการจัดสรรที่ดินสำหรับทำกิน การจัดหาแหล่งเงินทุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และวัสดุอุปกรณ์เครื่องจักรในการผลิต

ความยากจนด้านภูมินิเวศในสกลนคร
จังหวัดสกลนครมีขนาดพื้นที่ 9,605.76 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 6,003,602 ไร่ เป็นที่ราบสูงล้อมรอบด้วยภูเขา และป่าไม้ มีแม่น้ำโขงอยู่ด้านทิศตะวันออก ทำให้พื้นที่มีข้อจำกัดในการทำการเกษตร เนื่องจากดิน และสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้ง ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดสกลนครมีหลายระบบนิเวศ เช่น นิเวศภูเขา นิเวศลุ่มน้ำหนองหาร นิเวศลุ่มน้ำสงคราม นิเวศลุ่มน้ำอูน ซึ่งมีระบบความสัมพันธ์ในการดำรงชีพทั้งคน สัตว์ และธรรมชาติ
สถานการณ์ความยากจนด้านภูมินิเวศในสกลนคร มีดังนี้
- เข้าไม่ถึงชลประทาน พื้นที่การเกษตร 3,052,387 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ชลประทานเพียง 592,013 ไร่ และอยู่นอกเขตชลประทานถึง 2,460,374 ไร่ ทำให้ขาดแคลนแหล่งน้ำทำการเกษตร โดยเฉพาะในฤดูแล้ง บางพื้นที่ไม่สามารถปลูกพืชได้เลย ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง และสัตว์น้ำที่สร้างมูลค่า และใช้บริโภคได้ลดน้อยลง
- สภาพอากาศแปรปรวน ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ในพื้นที่จังหวัดสกลนครมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมีความถี่ และระยะเวลาที่ฝนตกต่อเนื่องลดลง แต่มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมฉับพลันได้ง่าย นอกจากนี้ พายุที่เข้าประเทศไทยลดลง แต่ทวีความรุนแรงทางภัยพิบัติมากขึ้น เสี่ยงต่อเหตุการณ์ฝนตกหนัก สลับกับความแห้งแล้งที่ยาวนาน ส่งผลให้ทรัพย์สิน และผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ทำให้มีรายจ่าย และหนี้สินเพิ่มขึ้น
- คุณภาพดินเค็ม และดินขาดความอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ทางการเกษตรเสื่อมโทรมจากการใช้สารเคมีในระยะยาว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิต และอาหารป่า ทำให้ขาดความมั่นคงทางอาหาร และไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในการดำรงชีพ และสร้างรายได้
- เกิดโรคอุบัติใหม่: ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และปศุสัตว์ ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่กู้ยืมเงินมาลงทุน ทำให้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
- ไม่มีที่ดินทำกิน และไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน เกิดกรณีข้อพิพาทที่ดิน ทั้งการบุกรุก และลักลอบใช้ประโยชน์ ส่งผลให้ไม่มีอาชีพหลัก หรือต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินทำกิน รวมไปถึงมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในกรณีบุกรุกที่สาธารณะประโยชน์
แนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ด้านภูมินิเวศ
- สนับสนุนความรู้การใช้ประโยชน์ที่ดินให้กับประชาชน โดยนำเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพื่อสร้างสมดุลของการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน
- พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตามฤดูกาล โดยพัฒนาเส้นทางการเรียนรู้ให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และเรียนรู้สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน
- สนับสนุน และส่งเสริมรูปแบบการทำเกษตรกรรมที่เหมาะสมกับเงื่อนไขทางสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยแบ่งเป็นระยะสั้น และระยะยาว เพื่อให้เกิดการเกษตรหมุนเวียนอย่างยั่งยืนตลอดทั้งปี โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
โดยรวม ปัญหาความยากจนในสกลนครมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันในหลายมิติ การแก้ไขปัญหาจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และดำเนินงานอย่างบูรณาการ เพื่อพัฒนาคน สร้างโอกาส และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เรียบเรียงโดย : แตงโม สกลนคร
ภายใต้โครงการ : การพัฒนาและยกระดับจังหวัดสกลนครสู่พื้นที่วิจัยยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคมด้วยวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ปี2567
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
ติดตามได้ที่ : Onepoverty , blockdit และ Facebook