เทคโนโลยี-ธุรกิจ-เครือข่าย สมการโมเดลปลูกมันฝรั่งแก้จนสกลนคร

เทคโนโลยี-ธุรกิจ-เครือข่าย สมการโมเดลปลูกมันฝรั่งแก้จนสกลนคร


ปัญหาความจนไทย มหากาพย์ไม่รู้จบ! "รายได้" ตัวชี้วัดสำคัญของการหลุดพ้นจากความยากจน แต่ประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหาเรื้อรังนี้มาอย่างยาวนาน เกษตรกรในท้องถิ่นสะท้อนความสิ้นหวัง "อาชีพทางเลือกน้อย ความเสี่ยงสูง" ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน 

ท่ามกลางความท้าทายนี้ "เทคโนโลยีพร้อมใช้ + ความร่วมมือธุรกิจ + เครือข่ายภาครัฐ" กลายเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนด้านรายได้ ปฏิบัติการ "โมเดลแก้จน" โดย บพท. และ มรภ.สกลนคร มุ่งพัฒนาอาชีพและสร้างโอกาสทางสังคม ผ่าน 6 โมเดลหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจชุมชน, ห่วงโซ่มูลค่าคนจน, สวัสดิการเกื้อกูล, อุตสาหกรรมเชิงพื้นที่, การบริหารจัดการเงิน และการจัดการภัยพิบัติ

พลิกโฉมเกษตรกรรม ปลูกมันฝรั่งแก้จน จ้างงานสร้างรายได้

จังหวัดสกลนคร มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย โดยในปี พ.ศ. 2565 มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) สูงถึง 70,457 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นอันดับที่ 44 ของประเทศ และอันดับที่ 10 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงแม้ว่ามีจุดแข็งในภาคเกษตร การป่าไม้ และประมง เป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด มีสัดส่วนครัวเรือนเกษตรกรร้อยละ 49.91 แต่รายได้จากภาคเกษตรมีสัดส่วนใน GPP เพียงร้อยละ 26.61 ซึ่งน้อยกว่าภาคนอกเกษตรที่มีสัดส่วนร้อยละ 73.39

การพัฒนาจังหวัดต้องเผชิญกับความท้าทายในการเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกร ซึ่งภาคเกษตรอาจมีความผันผวนตามสภาพอากาศและราคาผลผลิต การพัฒนาภาคเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มและเชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่น ๆ ของเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญ

อ.ภาณุวัฒน์ บุญตาท้าว นักวิจัยและหัวหน้าโครงการโมเดลแก้จน ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวว่า มองหาโอกาสใหม่ในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการพัฒนาและร่วมมือกับอุตสาหกรรมการปลูกมันฝรั่งอย่างจริงจัง ด้วยศักยภาพของสภาพดินและภูมิอากาศที่เหมาะสม ประกอบกับความต้องการของตลาดผลิตภัณฑ์มันฝรั่งที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยวที่มีบริษัทระดับโลกอย่าง เป๊ปซี่-โคล่า เป็นผู้เล่นหลัก จึงเล็งเห็นโอกาสในการพลิกโฉมภาคเกษตรกรรม ไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนในระดับอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

บริษัท วาต้า ไทยเทรดดิ้ง จำกัด มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งในจังหวัดสกลนครและนครพนม โดยรับซื้อมันฝรั่งเพื่อส่งให้กับบริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด โดยบริษัท ฯ ประกาศราคารับซื้อที่มั่นคงและให้การสนับสนุนเกษตรกรในด้านต่าง ๆ เช่น หัวพันธุ์ ปุ๋ย และฮอร์โมน นอกจากนี้ ยังมีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปลูกมันฝรั่งในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่จะทำปีละ 1 ครั้ง หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์

การเข้ามาของบริษัท ฯ ช่วยสร้างรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยมีการจ้างแรงงานประมาณ 30-40 คนต่อแปลง ด้วยค่าจ้าง 340 บาทต่อวัน บริษัท ฯ ยังสนับสนุนให้คนที่ทำงานต่างถิ่นได้กลับมาทำการเกษตรที่บ้าน ในปี 2568 มีเกษตรกรในจังหวัดสกลนครและนครพนมปลูกมันฝรั่งเพื่อแปรรูปเป็นขนม 1,000 ไร่ และเพื่อผลิตเป็นหัวพันธุ์สำหรับปีต่อไปอีก 200 ไร่ มีมูลค่าการตลาดรวมประมาณ 30 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.16 ของ GPP ภาคการเกษตรจังหวัด) บริษัท ฯ มีความต้องการมันฝรั่งเพิ่มมากขึ้น และพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ที่สนใจปลูกมันฝรั่งในพื้นที่

เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่ปลูกมันฝรั่งบ้านโคกก่อง คุณอำพร เกษตรกรในพื้นที่ มีประสบการณ์ปลูกมันฝรั่งมา 22 ปี เปิดเผยว่า ปีนี้รับหัวมันฝรั่งมาปลูกประมาณ 2 ไร่ 2 งาน ปลูกสำหรับทำขนมทั้งหมดใช้เวลาปลูก 3 เดือน ผลผลิตที่ได้ 18 ตัน ผ่านการคัดเลือก17 ตัน มีรายได้ทั้งหมด 260,000 บาท หักต้นทุนค่าหัวพันธุ์ค่าปุ๋ยคือบริษัทลงทุน 50,000 บาท หักต้นทุนการจ้างแรงงาน/ค่าดูแล 30,000 บาท เหลือกำไรเบื้องต้น 180,000 บาท/รอบผลิต/ปี

เทคโนโลยี-ธุรกิจ-เครือข่าย สมการโมเดลปลูกมันฝรั่งแก้จนสกลนคร


สมการโมเดลแก้จน ปลูกมันฝรั่งกับความท้าทายของเกษตรกรมือใหม่

ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่เป้าหมาย นอกจากเทคโนโลยี-ธุรกิจ-เครือข่ายแล้ว การสร้างความไว้ใจและการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยสิ่งที่ อ.ภาณุวัฒน์ และทีมนักวิจัย ทำแตกต่างจากเดิม คือ การหนุนเสริมเทคโนโลยีลดต้นทุน หนุนเสริมศักยภาพคนจน และการขยายพื้นที่ปลูกจาก ต.โคกก่อง ไปยัง ต.พังขว้าง ต.ขมิ้น อ.เมืองสกลนคร

แนวทางในการพัฒนาโมเดลคือ ร่วมมือกับภาคธุรกิจสร้างลูกฟาร์มในพื้นที่ใหม่ เพื่อนำคนจนเข้าเป็นแรงงานในห่วงโซ่มูลค่า ด้วยสมการแก้จนปลูกมันฝรั่งเพิ่ม 1ไร่ เกิดการจ้างแรงงานเพิ่ม 5-10 คน มีขั้นตอนดำเนินงานได้แก่ 1) มองหาโอกาส (Opportunity) 2) วิเคราะห์ปัญหา (Pain point) 3) ออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหา (how to solution) 4) วิเคราะห์เป้าหมายผลจากการแก้ไขปัญหาร่วม (New point) 5) การบรรลุเป้าหมาย (Goal)

"หลังจากไปดูงานได้ทดลงปลูกมันฝรั่ง 1 ไร่ เจอกับปัญหาหลายอย่างซึ่งไม่รู้สาเหตุว่าเกิดจากอะไร แต่ในปัจจุบันทราบสาเหตุแล้วว่าเกิดจากเชื้อรา การดูแล การให้น้ำและสภาพอากาศ ภายในอนาคตคิดว่าจะทำ 2 ไร่" คุณรติยา ชินโท (คุณเล็ก อายุ 35 ปี) เกษตรกรลูกฟาร์มปลูกมันฝรั่งมือใหม่ บ้านหนองปลาดุก

เกษตรกรมือใหม่มักประสบกับความท้าทายต่าง ๆ ในการปลูกมันฝรั่ง คุณรติยา ชินโท (คุณเล็ก อายุ 35 ปี) เกษตรกรมือใหม่ในตำบลพังขว้าง อำเภอเมืองสกลนคร ปลูกมันฝรั่ง 1 ไร่ พบปัญหาเรื่องการเตรียมดินที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากมีน้ำเข้าแปลงมาก ทำให้ไม่สามารถปลูกได้ตามกำหนด นอกจากนี้ ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเจริญเติบโตของต้นมันฝรั่ง การให้น้ำ การใส่ปุ๋ย และการป้องกันโรคและแมลง ปัญหาโรคระบาดจากเชื้อราและการเข้าทำลายของหนอนกระทู้ ทำให้ผลผลิตไม่เป็นที่น่าพอใจ

เช่นเดียวกับ คุณเดี่ยว เกษตรกรมือใหม่ในตำบลขมิ้น อำเภอเมืองสกลนคร ที่เริ่มปลูกมันฝรั่ง 1 ไร่ แปลงปลูกเกิดน้ำท่วมขัง 2 รอบ ทำให้ต้นมันฝรั่งไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร มีการแก้ปัญหาเบื้องต้น เช่น การตัดยอดและการฉีดปุ๋ยบำรุงต้น แต่ก็ยังพบปัญหาหนอนเข้ามากินหัวมันฝรั่ง หัวมันฝรั่งมีสีเขียวเนื่องจากการให้น้ำมากเกินไปและการยกดินที่ไม่สูงพอ ประสบการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเตรียมดิน การจัดการน้ำ และความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคและแมลง

นอกจากบทเรียนที่สำคัญสำหรับเกษตรกรมือใหม่ คือ 1) การเตรียมดินที่ดี 2) การจัดการน้ำที่เหมาะสม และ 3) ความรู้เกี่ยวกับการเจริญเติบโตของพืชและการป้องกันแมลงศัตรูพืช ปฏิบัติการโมเดลแก้จนครั้งนี้มีผลลัพธ์และแล้วผลกระทบในพื้นที่ ได้แก่ ได้ลูกฟาร์มปลูกมันฝรั่งเพิ่ม เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ให้คนในชุมชนมากกว่า 30 คน เกิดห่วงโซ่มูลค่าใหม่ (New Supply Chain) กระทบเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนจากการใช้จ่าย เช่น ค่าน้ำมัน อาหารเครื่องดื่ม และสิ่งที่สำคัญ

สิ่งที่เกิดเปลี่ยนแปลงต่อกลุ่มเป้าหมาย คือ มีความคิดว่า ขาดทุนหรือมีกำไรไม่สำคัญเท่าการเรียนรู้ มีเครือข่ายการสนับสนุนความรู้ ปัจจัยการผลิต เทคโนโลยี และตลาด เกิดการปรับแผนปฏิบัติการจากอุปสรรคที่ผ่านมา เตรียมขยายพื้นที่ปลูกในปีถัดไป

เทคโนโลยี-ธุรกิจ-เครือข่าย สมการโมเดลปลูกมันฝรั่งแก้จนสกลนคร


ผนึกกำลังทุกภาคส่วน ขยายผลปลูกมันฝรั่งแก้จน สู่ระดับอุตสาหกรรม

รูปธรรมความสำเร็จของโมเดลครั้งนี้ ภาคีเครือข่ายนำแนวทางการพัฒนาไปใช้ประโยชน์ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร โดยโครงการวิจัย “อารยเกษตรแก้จนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัย” ภายใต้แพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดสกลนคร จัดงาน Poverty Forum "อนาคตปลูกมันฝรั่งอย่างไร ให้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความยากจนระดับอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่" วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 13.00 - 16.00 น. ณ บ้านหนองปลาดุก ต.พังขว้าง อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร 

ผู้ร่วมเสวนา นำโดย นายอำเภอเมืองสกลนคร, เกษตรจังหวัดสกลนคร, เกษตรอำเภอเมืองสกลนคร, นักวิชาการชำนาญการพิเศษ สถานีพัฒนาที่ดินสกลนคร, นายช่างชลประทานปฏิบัติงาน โครงการชลประทานสกลนคร, ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริม บริษัท วาต้า ไทยเทรดดิ้ง จำกัด, รองประธานกลุ่มแปลงใหญ่ปลูกมันฝรั่งบ้านโคกก่อง, ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนตำบลพังขว้าง, กำนันและผู้ใหญ่บ้านตำบลพังขว้าง, ครัวเรือนเป้าหมายที่เข้าร่วมปฏิบัติการโมเดลแก้จน, ประชาชนทั่วไปที่สนใจปลูกมันฝรั่ง, ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และคณะนักวิจัย มีประเด็นความร่วมมือ ดังนี้

  • นายอำเภอเมืองสกลนคร สนับสนุนให้เกษตรกรมีความกระตือรือร้นและร่วมมือกันในการพัฒนาการเกษตร เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ
  • เกษตรจังหวัดสกลนคร มีแนวทางสนับสนุนงบประมาณและให้ความรู้แก่เกษตรกร โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเกษตรกรรายใหญ่ และส่งเสริมให้เกิดการทำเกษตรแบบมีนายทุนเข้ามารับซื้อผลผลิต
  • เกษตรอำเภอเมืองสกลนคร ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้สามารถเข้าถึงงบประมาณและการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
  • กรมชลประทาน จ.สกลนคร บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝน แต่มีข้อจำกัดในการสนับสนุนการเพาะปลูกในฤดูแล้ง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อย
  • สถานีพัฒนาที่ดินสกลนคร กรมพัฒนาที่ดิน มีภารกิจในการปรับปรุงดินให้มีความสมบูรณ์เหมาะสมแก่การเพาะปลูก โดยมีแนวทางสนับสนุนปูนโดโลไมท์และสารเร่ง พด. เพื่อปรับปรุงดินและผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง
  • อบต.พังขว้าง สนับสนุนด้านการฝึกอาชีพให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เช่น การนำมันฝรั่งตกเกรดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ปีนี้ได้ทดลองขยายพื้นที่ปลูกมันฝรั่งมายัง ตำพังขว้าง และตำบลขมิ้น ได้ให้ความรู้เบื้องต้น สนับสนุนด้านเทคโนโลยีและงบประมาณวิจัย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพเกษตร พร้อมกับได้รับงบประมาณสนับสนุนการขับเคลื่อนงาน ขยายผลพื้นที่ปลูกมันฝรั่งให้กับผู้ยากจนในจังหวัด ภายใต้แพลตฟอร์มขจัดความยากจนจังหวัดสกลนคร อย่างต่อเนื่อง

"โมเดลปลูกมันฝรั่งแก้จน" อาจดัน GPP ภาคเกษตรโต 1% ด้วยกุญแจสู่ความสำเร็จ คือเทคโนโลยีต้องถึงมือ ความรู้ต้องแน่น ปัจจัยการผลิตต้องพร้อม สร้างความร่วมมือระหว่างเกษตรกรและหน่วยงานต่าง ๆ หากสกลนครทำได้ มันฝรั่งจะไม่ใช่แค่พืชเศรษฐกิจ แต่เป็น "เครื่องยนต์" ขับเคลื่อน GPP เกษตร และสร้างความยั่งยืนให้คนจน


เทคโนโลยี-ธุรกิจ-เครือข่าย สมการโมเดลปลูกมันฝรั่งแก้จนสกลนคร
เทคโนโลยี-ธุรกิจ-เครือข่าย สมการโมเดลปลูกมันฝรั่งแก้จนสกลนคร
เทคโนโลยี-ธุรกิจ-เครือข่าย สมการโมเดลปลูกมันฝรั่งแก้จนสกลนคร


บทความที่เกี่ยวข้อง

เรียบเรียงโดย : แตงโม สกลนคร
โครงการ : อารยเกษตรแก้จนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัย
ภายใต้โครงการ : การพัฒนาและยกระดับจังหวัดสกลนครสู่พื้นที่วิจัยยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคมด้วยวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ปี2567
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
ติดตามได้ที่ : Onepoverty , blockdit และ Facebook
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า