บ้านดงสาร ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ที่ตั้งชุมชนติดกับแม่น้ำสงคราม (ตอนล่าง) มีพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามหรือชาวบ้านเรียกว่า “ทุ่งพันขัน” เนื้อที่ตามทะเบียนที่สาธารณะประโยชน์ (นสล.) รวมทั้งสิ้น 4,625 ไร่ เป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่มากกว่า 100 ปี มีคำขวัญบ้านดงสารดังนี้
"นาปรังข้าวขาว ดอนเล้าข้าวต้นไม้ใหญ่ กุดสิ้วน้ำใส ทุ่งพันขันกว้างไกล ปลาใหญ่หนองหมากแซว ใช่แล้วบ้านดงสาร"
ประวัติศาสตร์บ้านดงสาร
ก่อนปี 2484 คนเขมรและคนลาวเดินทางเข้ามาค้าขายในเขตลุ่มน้ำสงคราม โดยเดินทางด้วย “เรือกะแซง” มีการค้าขายเครื่องเงิน เครื่องทอง มีด ดาบ ข้าว และมีการส่งออกเกลือไปขายที่ประเทศลาว
ปี 2484 - 2488 เริ่มตั้งชุมชนหมู่บ้าน มีคนญวนได้อพยพเข้ามาอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ของประเทศไทย รวมถึงบริเวณรอบๆ แม่น้ำสงคราม และมีคนหลากหลายชาติพันธุ์อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ในเขตแม่น้ำสงครามมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อีสาน ลาว โส้ ญ้อ และจีน ได้มีการตั้งชุมชนที่ตั้งอยู่เดิมหรือตั้งชุมชนใหม่ มีการทำการเกษตรมากขึ้น เช่น ทำนาแซง(นาปรัง) ปลูกผัก เลี้ยงวัว-ควาย รวมถึงการค้าขาย และเป็นลูกจ้างขนของขึ้นลงเรือกะแซง
ปี 2490 มีพ่อค้าชาวจีน บรรทุกข้าวและพริกมาขายในลุ่มน้ำสงคราม โดยใช้เรือกำปั่นและเรือกะแซงในการเดินทาง มีการนำปลาร้า ปลาแห้ง ปลาย่าง ปลาส้ม และเกลือจากลุ่มน้ำสงคราม ลงไปขายตามชุมชนสองฝั่งโขงแถบหนองคาย มุกดาหาร อุบลราชธานี ศรีสะเกษและประเทศลาว
ปี 2493 ทางการได้ตัดถนนจากอำเภอท่าอุเทน เข้าสู่อำเภอศรีสงคราม การส่งสินค้าทางเรือมีบทบาทน้อยลง พ่อค้าหันมาใช้เส้นทางการขนส่งทางบกแทน ได้มีการนำรถยนต์เข้ามาทำการขนส่งสินค้าจากลุมน้ำสงครามไปสู่จังหวัดอื่น
ปี 2508 - 2522 มีการสัมปทานเผาถ่าน ทำให้ป่าไม้ที่เคยมีมากมาย ถูกตัดไปเผาเป็นถ่านในการใช้ในครัวเรือน มีพ่อค้าจากจังหวัดนครพนม สกลนคร อุดรธานี เข้ามาซื้อถ่านจากคนในชุมชน (ในช่วง พ.ศ 2517-2519)
ปี 2518 เริ่มทำนาปรัง หลังน้ำลดประมาณเดือนพฤศจิกายน แต่ก่อนชาวบ้านจะเรียกทำนาแซง
ปี 2520 - 2539 มีการก่อตั้งบริษัท ด้านอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่จำนวน 5 บริษัท 1) ปี2521 ตั้งบริษัทตะวันฟาร์ม 2) ปี2527 ตั้งบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรอีสาน 3) ปี2531 ก่อตั้งบริษัทซันเทค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้มีการเข้ามาปลูกดอกทานตะวัน มะเขือเทศ และยูคาลิปตัส 4) ปี2538 ตั้งบริษัท เอเชียเทค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 5) ปี2539 ตั้งบริษัท เอเชียเทค พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด (มหาชน)
ปี 2533 ผู้ว่าราชการจังหวัดนำที่ดินทุ่งพันขัน มาจัดสรรให้ชาวบ้านดงสาร 160 ครอบครัว จำนวน 996 ไร่ ต่อมาบริษัทซันเทคฯ เกิดการกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านทางอ้อมในราคาไร่ละ 1,000 - 2,000 บาท และได้เบิกไถที่ดินในพื้นที่ป่าทามทุ่งพันขัน เพื่อปลูกยูคาลิปตัส เพิ่มอีก 3,000 ไร่ โดยอ้างว่าได้เช่าพื้นที่จากราชการแล้ว รวมเป็น 4,000 ไร่
ปี 2533 - 2534 เกิดการใช้ทรัพยากรป่าไม้เพื่อการค้า มีการไถเบิกพื้นที่ทุ่งพันขันเป็นจำนวนมากในช่วง จนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน
ปี 2538 - 2539 ชาวบ้านได้รวมกลุ่ม อนุรักษ์ลุ่มน้ำสงคราม กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูทุ่งพันขัน และรวมตัวกันต่อต้านกดดันกลุ่มบริษัทเอกชนที่มาลงทุนในทุ่งพันขันเรื่อยมา
ปี 2538 มีการถวายฎีกาต่อสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จมาประทับแรมที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เมื่อปลายปี 2538
ปี 2541 - 2542 บริษัทตกลงคืนพื้นที่ป่าทุ่งทามให้กับชาวบ้าน โดยบริษัทขอตัดต้นยูคาลิปตัสก่อน และมีการฟื้นฟูป่าทุ่งทาม ทุ่งพันขัน
ปี 2547 ต่อมาชาวบ้านได้สร้างพื้นที่ขยายและอนุรักษ์พันธุ์ปลา 2 วัง ได้แก่ วังอนุรักษ์หนองหมากแซว พื้นที่ 725 ไร่ และวังอนุรักษ์กุดสิ้ว พื้นที่ 12 ไร่ และมีธรรมนูญชุมชน การจัดสรรพื้นที่ทุ่งพันขันให้ชาวบ้านทำนาปรังเพิ่ม
ปี 2548 - 2549 ศูนย์วิจัยเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจังหวัดสกลนคร ได้มอบลูกปลามาปล่อยในแหล่งน้ำมีปลาอุดมสมบูรณ์มากกขึ้น จำนวน 2 ครั้ง 1) จำนวน 100,000 ตัว 2) จำนวน 155,000 ตัว และชาวบ้านชาวบ้านได้มอบปุ๋ยคอก จำนวน 91 กระสอบให้กับทางศูนย์วิจัยเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจังหวัดสกลนครกลับไปใช้
ปี 2564 - 2566 มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เข้ามาพัฒนาหมู่บ้านเพื่อแก้ปัญหาความยากจนการทำนาปรัง โดยนักวิจัยทีมปฏิบัติการโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง ด้วยกลยุทธ์ คลังเมล็ดพันธุ์ข้าว สู่การสร้างโอกาสใหม่ เตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต กับ Local Alike
ปี 2567 ทีมนักวิจัยปฏิบัติการโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง จาก บพท. มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และนายอำเภออากาศอำนวย ได้ปลูกต้นไม้จารึกนักพัฒนาการทำนาปรังเพื่อแก้ปัญหาความยากจน โมเดลคลังเมล็ดพันธุ์ข้าว
"ทุ่งพันขัน" ทรัพยากรอันล้ำค่าลุ่มน้ำสงคราม พื้นที่ชุ่มน้ำบ้านดงสาร
บ้านดงสาร ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ที่ตั้งชุมชนติดกับแม่น้ำสงคราม (ตอนล่าง) ริมฝั่งห่างจากหมู่บ้านเพียง 3-5 กิโลเมตร มีพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามหรือชาวบ้านเรียกว่า “ทุ่งพันขัน” เนื้อที่ตามทะเบียนที่สาธารณะประโยชน์ (นสล.) รวมทั้งสิ้น 4,625 ไร่ เป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่มากกว่า 100 ปี มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ
เมื่อถึงฤดูฝนทุกปี น้ำจากลำน้ำสงครามจะไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่มดังกล่าวเป็นบริเวณกว้าง จากการขึ้นลงของน้ำในลำน้ำสงครามนั้น มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการอพยพย้ายถิ่นของปลาตามธรรมชาติ เมื่อเวลาน้ำหลากท่วมป่าบุ่งป่าทาม ปลาจากแม่น้ำโขงจะว่ายมาตามลำน้ำสงครามเข้ามาหาอาหารและวางไข่ในป่าบุ่งป่าทามริมแม่น้ำ และเมื่อหมดฤดูน้ำ พันธุ์ไม้ต่าง ๆ ในป่าบุ่งป่าทามก็จะเจริญงอกงาม ชาวบ้านก็จะได้อาหารจากป่าทาม ได้แก่ หน่อไม้ เห็ด และพืชสมุนไพร
ป่าบุ่งป่าทาม จึงเป็นต้นกำเนิดของแหล่งอาหารอันสมบูรณ์ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำสงคราม การตั้งถิ่นฐานของชุมชนจึงมักตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มบนที่ดอน อยู่ใกล้กับป่าทามที่อุดมสมบูรณ์
แลนค์มาร์คทุ่งพันขันบ้านดงสาร
รอบเขตทุ่งพันขันมีแหล่งขนาดใหญ่ 3 แหล่ง คือ หนองหมากแซว กุดสิ้ว หนองคางฮุง แหล่งน้ำมีความสำคัญต่อบ้านดงสารเป็นอย่างมาก ทั้งดำรงชีพและเป็นแก้งลิงเก็บน้ำสำหรับทำนาปรัง มีรายละเอียด ดังนี้
- หนองหมากแซว เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พื้นที่ 725 ไร่ เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาของชุมชน
- กุดสิ้ว ติดกับป่าชุมชนดอนเล้าข้าว กุดน้ำขนาดยาวทอดตามแนวแม่น้ำ เป็นแหล่งหาปลา น้ำเลี้ยงวัว ควาย เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาของชุมชน
- หนองคางฮุง อยู่ทิศเหนือติดกับแม่น้ำสงคราม เป็นพื้นที่บุ่งทามมีพืชป่าทามหลายชนิด ขึ้นอยู่ทั่วพื้นที่หนอง เป็นแหล่งหน่อไม้ไผ่กะซะ มันแซง เห็ด แมลง และที่สำคัญเป็นแหล่ง “ผ่าปลา” หรือ การขายบัตรจับปลาเพื่อนำรายได้ไปพัฒนาหมู่บ้านอีกด้วย
ปฏิทินชุมชนบ้านดงสาร
- ฤดูฝน ชาวบ้านทำนาปี เฉพาะคนมีที่ทำกินด้านทางด้านทิศตะวันตก ส่วนทุ่งพันขันน้ำท่วมทั้งหมด แต่ชาวบ้านสามารถหาอาหารป่า จับสัตว์น้ำ
- ฤดูหนาว ชาวบ้านเริ่มทำนาปรัง หาอาหารป่า จับสัตว์น้ำ เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผัก รับจ้างทั่วไป
- ฤดูร้อน ชาวบ้านเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง หาอาหารป่า จับสัตว์น้ำ เลี้ยงสัตว์ รับจ้างทั่วไป
ช่วงปี 2518 หลังน้ำลดประมาณเดือนพฤศจิกายนเป็นจุดเริ่มต้นทำนาปรัง แต่ก่อนชาวบ้านจะเรียกทำนาแซง หลังจากได้พื้นที่ทุ่งพันขันจากบริษัทคืนในปี 2542 จึงเริ่มจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านทำนาปรังมากขึ้น พอได้ผลผลิตมีข้าวกินจึงขยายเต็มพื้นที่ในปัจจุบัน แต่ปัญหาที่พบ คือ ข้าวแข็งเป็นเมล็ดสีเหลืองขายได้ในราคาที่ถูกมากหรือเป็นอาหารสัตว์
นายณัฎฐพล นิพันธ์ หรือผู้ใหญ่เด่น อายุ 61 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านดงสาร (14ก.ค.66) เล่าข้อมูลบริบทบ้านดงสารเพิ่มเติมว่า บ้านดงสารเป็นหมู่บ้านที่ยากจนมาก เป็นป่าบุ่งป่าทามแต่ก่อนขนานนามว่าทุ่งน้ำทุ่งไฟ คือว่า ในฤดูฝน น้ำจากแม่น้ำสงครามจะท่วมทั้งหมดเหลือแต่หมู่บ้าน และในฤดูร้อน ไฟจะไหม้ทุ่งหญ้าแซงบางปีที่สถานการณ์ไม่เลวร้ายมากนัก จะเป็นซุปเปอร์มาร์เกตของชาวบ้านได้พึ่งพิงธรรมชาติ เช่น หาหน่อไม้ขาย มีมันแซงขาย เกิดผักป่ากินได้ เป็นต้น ชาวบ้านจะนำมาขายหรือแลกข้าวกับชุมชนใกล้เคียง
นายณัฎฐพล นิพันธ์ |
ด้าน ครูสุวรรณ บงศ์บุตร ข้าราชการบำนาญและปราชญ์ชุมชน (14ก.ค.66) กล่าวว่า ในปัจจุบันปี 2566 ชาวบ้านดงสารและหมู่บ้านรอบข้าง เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทุ่งพันขัน เพื่อการเกษตรทำนาปรังช่วงหลังฤดูน้ำลดปลูกข้าวไว้บริโภค และเพื่อการดำรงชีพหาของป่า ซึ่งทรัพยากรไม่เพียงพอเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากมีชาวบ้านต่างชุมชนเช่าเหมารถเข้ามาใช้ทรัพยากรมากขึ้นทุกปี
ครูสุวรรณ บงศ์บุตร |
จากข้อมูลการสัมภาษณ์ชาวบ้าน เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในช่วง ปี พ.ศ.2545 หรือ 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อดูภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลัง (Google Earth) เปรียบเทียบกันในแต่ละปี จะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนในช่วงปี พ.ศ 2548 (ค.ศ. 2005 – 2006) เริ่มเห็นการปรับสภาพพื้นที่ป่าเป็นแปลงปลูกข้าว เมื่อผ่านไปอีก 8 ปี ช่วง ค.ศ. 2014 มีการจับจองพื้นที่ทุ่งพันขันทั้งหมดเพื่อทำการเกษตรปลูกข้าวนาปรัง และมีการพัฒนามาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน
เหล่าผู้ก่อการดีนักวิจัยไทบ้าน (ศ.ดงสาร) พัฒนาบ้านดงสารถึงปัจจุบัน
ความอุดมสมบูรณ์ที่ได้สัมผัสถ้าชุมชนไม่รวมพลังรักษาไว้ ปัจจุบัน “ทุ่งพันขัน” คงไม่มีพิกัดอยู่บ้านดงสาร ขอประกาศเกียรติคุณ ศ.(ศาสตร์)ดงสาร ให้เหล่าผู้ก่อการดีนักวิจัยไทบ้าน ยังเข้มแข็งและดุดันเกินแรงม้า เป็นแบบอย่างการนำพลังความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์มาแก้ไขปัญหาชุมชนโดยชุมชน กับผลงานวิจัย "การนำภูมิปัญญาไทบ้านสู่กระบวนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทุ่งพันขัน บ.ดงสาร ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร" สุดคลาสสิกถล่มมารผ่านการพัฒนามาถึง 3 ยุค ได้แก่
- ยุคแรก ทวงคืนแผ่นดินทุ่งพันขัน ก่อนพ.ศ.2538 บริษัทอุตสาหกรรมเข้ามากว้านซื้อที่ดินกับชาวบ้านด้วยวิธีบีบบังคับทางอ้อม
- ยุคสอง การฟื้นฟูและพัฒนา ช่วงพ.ศ.2547 เกิดวังอนุรักษ์ เขตสงวน ธรรมนูญชุมชน การจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านทำนาปรัง
- และยุคสาม สืบทอดเผยแพร่ ช่วงพ.ศ.2565 ดงสารโมเดล “พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมที่มีชีวิต” ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ Onepoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
แหล่งอ้างอิง
1. การอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำสงคราม : https://www.blockdit.com/posts/64e250c32553f8096fe4791e
2. การนำภูมิปัญญาไทบ้านสู่กระบวนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทุ่งพันขัน บ้านดงสาร ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร (สุวรรณ บงศ์บุตร, 2546) https://elibrary.tsri.or.th/project_contentTRFN.asp?PJID=RDG46E0006
3. ปฏิบัติการแก้จน "โมเดลคลังเมล็ดพันธุ์ข้าว" (สายฝน ปุนหาวงศ์, 2565-2566) www.1poverty.com
ปี 2590 มีพ่อค้าชาวจีน ฯ น่าจะเป็น ปี 2490 นะครับ ขอบคุณครับจากครูสุวรรณ
ตอบลบแก้ไขแล้วนะครับ ขอบคุณครับ
ลบขอบคุณอ.สมชาย เครือคำ และทีมงานที่ทำให้ข้อมูลบ้านดงสารสมบูรณ์มากขึ้น
ตอบลบขอบคุณครับ
ลบ