ทีมอาจารย์นักวัจัย และนักศึกษา สาขาเทคโนโลยีเครื่องกลและการผลิต คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ลงพื้นที่บ้านบะหว้า ต.บะหว้า อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เพื่อวิเคราะห์การพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม กับการออกแบบโรงเรือนเพาะเห็ดอย่างง่าย
การพัฒนาเทคโนโลยีโรงเรือนเพาะเห็ดอย่างง่าย
นักวิจัยและชาวบ้าน ได้ร่วมกันวางแผนขั้นตอนการติดตั้งเทคโนโลยีมี 3 ระยะ คือ ระยะสร้างโมเดล ระยะพัฒนาทดลอง และระยะส่งมอบ กลุ่มเลือกเปลี่ยนระบบน้ำเป็นแบบพ่นหมอก จากเดิมใช้สายยางฉีด ซึ่งเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ดังนี้
- ช่วยในการประหยัดน้ำ
- ลดความเสี่ยง น้ำขังในก้อนเห็ด ตัดปัญหาการเกิดเชื้อราได้ง่าย
- ช่วยควบคุมโรงเรือนชนิดเห็ดนางฟ้า ไม่ให้ความชื้นเกิน 80 %
- เมื่อมีความชื้นที่เหมาะสม เชื้อเห็ดที่พักก้อนจะเดินเส้นใยเร็วขึ้น พร้อมเกิดดอกได้ไว
- ระบบน้ำสามารถตั้งเวลาให้ความชื้น ในโรงเรือนได้แบบอัตโนมัติ
เทคโนโลยีโรงเรือนเพาะเห็ดอย่างง่าย จะติดตั้งจำนวน 3 หลัง ซึ่งมีขนาดความกว้าง 3.6 เมตร ความยาว 8 เมตร ภายในบรรจุเห็ดได้ 3,500 ก้อน ใช้วัสดุมีอายุใช้งานมากกว่า 1 ปี สูงสุด 5 ปี ราคาไม่แพงสามารถคืนทุนได้ภายใน 1 ปี ซึ่งปีต่อไปไม่ต้องลงทุนใหม่ ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 %
ถือว่าเป็นต้นแบบให้กับสมาชิกกลุ่ม นำไปใช้เมื่อต้องการขยายพื้นที่ผลิตเห็ด หรือให้กลุ่มชุมชนอื่นมาเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์

ทดลองเทคโนโลยีโรงเรือนเพาะเห็ดอย่างง่าย
ถึงวันทดลองเทคโนโลยี (23 พ.ย. 2566) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ตกลงร่วมกัน ให้กลุ่มจัดเตรียมวัสดุที่หาได้จากทรัพยากรในพื้นที่ และขอแรงช่างชุมชนสร้างโรงเรือนไว้รอ สำหรับวันทดลองเชิญช่างชุมชน มาร่วมติดตั้งพร้อมศึกษาเรียนรู้นวัตกรรมไปพร้อมกัน สำหรับโครงการวิจัยได้สนับสนุนวัสดุระบบน้ำพ่นหมอก
เรียกได้ว่าเป็นการสร้าง “เทคโนโลยีเคลื่อนที่” ข้อค้นพบครั้งนี้คือการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนผ่านการลงมือทำด้วยกันทุกขั้นตอน ทำการทดลองพัฒนาจนสามารถใช้งานได้ตามความต้องการชุมชน ชาวบ้านมีทักษะแนะนำเทคโนโลยีให้ผู้อื่นได้ทันที
เมื่อการทดลองเทคโนโลยีโรงเรือนเพาะเห็ดอย่างง่ายสำเร็จ ได้เห็นรอยยิ้ม สีหน้าของทุกคนดูมีความสุข และตื่นเต้นอย่างภูมิใจ ได้ยินเสียงชาวบ้านพูดคุยกันว่า
"ดีจังเลย ถ้าเพิ่มโรงเรือนเพาะเห็ดขอนขาว เห็ดบด น่าจะเกิดดอกดี" ความรู้สึกของการมีส่วนร่วม อยากเป็นเจ้าของ เกิดขึ้นมาจากภายใน เป็นวินาที "แห่งคุณค่า" ที่ชุมชนจะบันทึกไว้ว่า มีนักวิจัยมาร่วมพัฒนาเทคโนโลยี ที่เหมาะสมกับบริบทชุมชน
แต่การติดตั้งเทคโนโลยีแบบนี้ เป็นสิ่งท้าทายนักวิจัยมาก ทั้งการต่อยอดจากทุนเดิมในชุมชน มีความซับซ้อนมากกว่าการสร้างใหม่ เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ด้วยทุนชุมชนและศักยภาพบุคคลไม่เท่ากัน จึงตั้งปรับรูปแบบโมเดลไปตามสถานการณ์ อาจทำให้ไม่สะดวกในการหาซื้อวัสดุเพิ่มเติม หรือบางครั้งต้องเสียสละเวลาจนถึงมืดค่ำ แต่ชุมชนให้ความร่วมมือและต้อนรับเป็นอย่างดี
เทคโนโลยีต้องเหมาะสมกับการรับผิดชอบกลุ่ม
การนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมทุกอย่างมาใช้ นอกจากเลือกให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่และบริบทคนแล้ว ยังตอบความยั่งยืนไม่ได้ ควรเหมาะสมกับขนาดกิจการ หรือกระเป๋าสตางค์ด้วย เนื่องจากความจริงหลังจากนี้ เงินซ่อมบำรุงจะเป็นภาระของกลุ่ม
ถ้าราคาซ่อมหลักพัน แต่มีรายได้หลักร้อย ถือว่ามีความเสี่ยงในอนาคต จะเป็นพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีร้าง และไม่อยากให้เกิดขึ้น
นักวิจัยเน้นย้ำกับชุมชนว่า การลดต้นทุน เพิ่มรายได้ จะทำกำไรมากขึ้น คือทักษะการเดินไปสู่ผู้ประกอบการ ต้องบริหารกลุ่มด้วยหลักการธุรกิจเกื้อกูล ถ้าเริ่มต้นมองภาพไม่ชัด ให้จำลองการจัดงานบุญมาใช้ ซึ่งทุกคนเข้าใจว่ามีหน้าที่หลักหน้าที่รองอะไรบ้าง สมาชิกทุนคนต้องเป็นแรงงานอย่างมีศักดิ์ศรีไม่ใช่การสงเคราะห์
แนวคิดชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ
คือการส่งเสริมกลุ่มในชุมชน ให้เป็นอุตสาหกรรมการผลิต เริ่มจาก “ผู้เปิดดอกเห็ด” โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีชุมชนเป็นเจ้าของธุรกิจ รวมกลุ่มอย่างน้อยหมู่บ้านละ 30 ครัวเรือน แบ่งเป็นทีมบริหาร 5 คน เช่น หัวหน้า ผู้ช่วยทำบัญชี การตลาด ประสานงาน เป็นต้น และครัวเรือนยากจนอย่างน้อย 25 คน
ทั้ง 30 ครัวเรือน ต้องผ่านการรับรองตามเงื่อนไขโดยผู้นำชุมชน เข้ามาเป็นแรงงานดูแลการผลิตตามศักยภาพ และได้พัฒนาทักษะการเพาะเห็ดกับพี่เลี้ยง รวมถึงการช่วยเหลือครัวเรือนที่ต้องสงเคราะห์ เป็นการสร้างกลไกความร่วมมือ ที่เชื่อมโยงกับกลไกตลาดและกลไกเชิงสถาบัน
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ