วิธีแปรรูปสบู่จากสมุนไพร "ขมิ้น" ช่วยลดรายจ่ายครัวเรือน


เกิดมาถึงตอนนี้อายุ 31 ปี ผมเพิ่งเคยเห็น "ขมิ้น" ที่มีหัวตั้งชันใหญ่ ปกติจะเห็นเป็นเง้าเล็ก ๆ แม่ชอบปลูกอยู่ริมรั้วบ้าน ขมิ้นหัวใหญ่แบบนี้เป็นของ แม่จุ้ย ชาวบ้านตำบลโพนแพง อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า "ขมิ้นขึ้น หรือ ขมิ้นอ้อย" จะเรียกว่าอะไรหรือมีลักษณะแบบไหนก็ตาม ประเด็นคือจะนำมาเป็นส่วนผสมของการแปรรูปสบู่

พูดเรื่องสบู่เป็นของอุปโภคที่จำเป็นกับทุกคน ใช้อาบน้ำและชำระล้างสิ่งสกปรกต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์จากสบู่มีหลากหลายมาก มีทั้งแบบก้อนและแบบเหลว บางคนเลือกใช้แบบเฉพาะ เช่น ใช้อาบน้ำ ใช้ล้างหน้า ใช้ล้างมือ เป็นต้น แต่ล้วนแล้วเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งนั้น สำหรับครัวเรือนผมมีสมาชิกอยู่ 5 คน มีค่าใช้จ่ายกับสบู่ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 500 บาท แล้วทุกท่านจ่ายค่าสบู่เดือนละเท่าไหร่ครับ เรามาลดรายจ่ายด้วยการทำสบู่เองดีกว่า

ผมมีโอกาสได้ติดตามและร่วมงานวิจัยโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง ฯ นำโดย อ.สายฝน ปุณหาวงค์ และเป็นวิทยากรในวันนี้ พร้อมด้วยคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้การแปรรูปสบู่ให้กับกลุ่มเป้าหมาย กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นที่เทศบาลตำบลโพนแพง อบรมให้กับผู้เปราะบาง (17พ.ค.2567) บ่งบอกว่ามีขั้นตอนการทำง่ายมาก ซึ่งผมได้สรุปองค์ความรู้การแปรรูปสบู่มาแนะนำทุกคน


ประโยชน์ของ "ขมิ้น"

ก่อนอื่นมารู้จักกับ "ขมิ้น" เป็นพืช "สมุนไพร" ลักษณะเป็นรากหรือหัวมีสีส้มออกเหลือง กลิ่นหอม ขมิ้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ควรใช้ให้ถูกต้องและควรปรึกษาแพทย์หากใช้เกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งมีสารสำคัญหลายชนิด ดังนี้

  1. คุณค่าทางโภชนาการ ขมิ้นชันมีสารอาหารที่มีประโยชน์ เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไฟเบอร์ นอกจากนี้ยังมีวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน 
  2. สารต้านอนุมูลอิสระ ขมิ้นชันมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเช่น มะเร็ง โรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับสมอง 
  3. สรรพคุณต้านการอักเสบ สาร Curcumin ในขมิ้นชันมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ช่วยลดอาการปวดและบวม 
  4. ส่วนประกอบในการรักษาโรค ขมิ้นชันมีประโยชน์ในการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคข้อเข่าอักเสบ โรคกระเพาะ และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ 
  5. ใช้ในการทำอาหาร ขมิ้นชันเป็นส่วนหนึ่งของอาหารในหลายประเทศ มีความนิยมในอาหารเช่น แกงเขียวหวาน และเครื่องปรุงรส

การแปรรูปสบู่ด้วยสมุนไพรขมิ้น

ขมิ้น นำมาทำสบู่จะช่วยลดการอักเสบเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวนะครับ การผลิตแต่ละครั้งจะคำนวณสัดส่วนปริมาณวัตถุดิบส่วนผสม ตามเบสสบู่กลีเซอรีน 1 กิโลกรัม ใช้เงินลงทุนประมาณ 250 บาท จะได้สบู่ขนาด 50 กรัม จำนวน 20 ก้อน จะขายได้หรือลดค่าใช้จ่ายประมาณ 500 บาท วัตถุดิบอุปกรณ์หาซื้อได้ง่ายหรือใช้ร่วมกับของในครัว มีขั้นตอนการทำ ดังนี้

1. เตรียมวัตถุดิบอุปกรณ์

  • เบสสบู่กลีเซอรีน 1 กิโลกรัม
  • สมุนไพร ขมิ้นและมะขามเปียก หรือชนิดอื่นที่ต้องการเลือกใช้สมุนไพรใน 2 ประเภทคือแบบส้มและแบบฝาด
  • น้ำผึ้ง
  • กลิ่นหอม ใช้วัตถุดิบธรรมชาติ หรือ แบบแต่งกลิ่นหัวน้ำหอม
  • บล็อกพิมพ์สบู่ ขนาดตามต้องการ
  • อุปกรณ์ ได้แก่ เตาแก๊ส หม้อ ไม้กวน  มีด กะละมัง เขียง เป็นต้น
  • เครื่องปั่น
  • ตราชั่ง

2. วิธีการแปรรูปสบู่

  • เตรียมสมุนไพรขมิ้น ล้างทำความสะอาดหั่นเป็นชื้นเล็กขนาดที่ลงเครื่องปั่นได้ ปั่นผสมกับมะขามเปียกเล็กน้อยให้เนื้อเข้ากัน กรองเอาแค่น้ำใช้ตราชั่งตวงเอาปริมาณ 200 กรัม
  • หั่นเบสสบู่เป็นชิ้นเล็ก ๆ 
  • นำเบสสบู่มาละลายด้วยความร้อนจากไอน้ำ ประมาณ 20-30 นาที เมื่อละลายเป็นของเหลวแล้ว ให้นำสมุนไพรที่เตรียมไว้เทลงไปพร้อมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ กวนให้ส่วนผสมเข้ากันอีก 3-5 นาที
  • ยกหม้อเบสสบู่ลงปล่อยไว้ให้อุณหภูมิเย็นลงประมาณ 40 องศา แล้วเทน้ำหอมลงเพื่อแต่งกลิ่นตามใจชอบ
  • เทลงแม่พิมพ์รอให้แห้งประมาณ 30 นาที หรือกระทั่งสบู่จับตัวกันเป็นก้อน 
  • แกะก้อนสบู่ออกจากพิมพ์ นำมาห่อด้วยซีนและบรรจุภัณฑ์พร้อมใช้หรือจำหน่าย
ขอแนะนำ สามารถใช้สมุนไพรชนิดอื่น ๆ ได้ เช่น ว่านหางจรเข้ ใบย่านาง แครอท เป็นต้น ถ้าต้องการทำปริมาณมากให้เพิ่มสัดส่วนวัตถุดิบตามเบสสบู่


การปลูกและเก็บเกี่ยวขมิ้น

อยากปลูกขมิ้นไว้บริเวณบ้านเพื่อแปรรูปสบู่แล้วใช่ไหมครับ ผมนำขั้นตอนที่สำคัญในการปลูกให้ได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพมาฝาก ดังนี้

1. การปลูกขมิ้น

  • ควรเลือกพันธุ์ขมิ้นชันที่มีคุณภาพดี และมีอายุอย่างน้อย 9-12 เดือน
  • ระยะปลูกควรเป็น 35 x 50 เซนติเมตร
  • หากปลูกขมิ้นชันเป็นพืชแซม ให้ใช้ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 30 เซนติเมตร
  • ขุดหลุดปลูกลึก 10-15 เซนติเมตร
  • หากไม่ได้ใส่ปุ๋ยคอกในขั้นตอนการเตรียมดิน ควรรองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยคอก 300 กรัมต่อหลุม

2. การเก็บขมิ้น

  • หากต้องการใช้ขมิ้นชันสด ควรเก็บในระยะที่ขมิ้นเริ่มแตกหน่อ และเก็บมาตัดแต่งราก     
  • ส่วนหัวแม่ควรเก็บไว้เป็นพันธุ์ปลูกในฤดูกาลต่อไป     
  • หากต้องการเตรียมขมิ้นแห้งเพื่อนำไปใช้ทำยารักษาโรค ควรเป็นขมิ้นชันที่แก่เต็มที่ และไม่ให้ถูกแสงแดด 

การเก็บเกี่ยวขมิ้นให้ใส่ใจในความสะอาดและความสดของพืช จะช่วยให้ได้รับประโยชน์ที่ดีที่สุด





เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ Onepoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
{fullWidth}
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า