
การทำก้อนเชื้อเห็ดจากไม้ยางพาราเป็นที่นิยมผลิตในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากไม้ยางพารามีความอุ้มน้ำและย่อยสลายง่าย เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด
ได้รวบรวมข้อมูลการทำก้อนเชื้อเห็ด จากเจ้าของฟาร์มที่มีประสบการณ์เพาะเห็ดปีละ 1,000,000 บาท มีวิธีการทำก้อนเชื้อ 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย การเตรียมวัตถุดิบ ผสมวัตถุดิบสูตรอาหารเห็ด อัดและบรรจุก้อน นึ่งฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ใส่เชื้อเห็ดและบ่มก้อนเชื้อเห็ด มีรายละเอียด ดังนี้
1 วัสดุการทำก้อนเชื้อเห็ดประกอบด้วยอะไร
- ขี้เลื่อยไม้ยางพารา สั่งจองล่วงหน้ากับโรงเลื่อยไม้ ใช้ระยะเวลาเตรียมส่งประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ ในช่วงฤดูฝนอาจใช้ระยะเวลามากกว่าหนึ่งเดือน
- วัตถุดิบผสมสูตรอาหาร ได้แก่ ปูนขาว ยิปซัม ดีเกลือ แร่ม้อนท์ อาหารเสริม ภูไมท์ รำอ่อน กากน้ำตาล
- วัสดุบรรจุก้อน ได้แก่ คอขวดพลาสติก ฝาครอบปิดก้อนเห็ด และถุงพลาสติกบรรจุก้อนทนความร้อน
- วัสดุการนึ่งฆ่าเชื้อ ได้แก่ เชื้อเพลิง(ฟืนไม้แห้งหรือเตาแก๊ส) ถังน้ำและน้ำสะอาด
- เชื้อเห็ดในเมล็ดข้าวฟ่าง สั่งจองล่วงหน้ากับผู้ประกอบการผลิตที่ได้มาตรฐาน ใช้ระยะเวลาบ่อเพาะเชื้อเห็ดในเมล็ดข้าวฟ่างประมาณ 20 - 30 วัน ถ้าแม่พันธุ์เชื้อเห็ดไม่แข็งแรงจะส่งผลให้เห็ดมีอัตราการเกิดดอกน้อย ก้อนเห็ดเกิดเชื้อราง่าย และระยะเวลาการเก็บดอกเห็ดสั้นลง
[ข้อควรรู้] การทำก้อนเชื้อเห็ดแต่ละครั้ง วางแผนการเปิดดอกให้สอดคล้องกับตระกูลเห็ด ที่ชอบอากาศเย็นหรืออากาศร้อน ช่วยให้แผนการสั่งจองขี้เลื่อยไม้ยางพารา และเชื้อเห็ดได้ตรงเวลา
2 เตรียมส่วนผสมทำก้อนเชื้อเห็ด และสูตรอาหารก้อนเชื้อเห็ด
- เตรียมขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม
- เตรียมสูตรอาหารเห็ด ได้แก่ ปูนขาว 2 กิโลกรัม ยิปซัม 500 กรัม ดีเกลือ 500 กรัม แร่ม้อนท์ 500 กรัม ภูไมท์ 500 กรัม และรำอ่อน 6 กิโลกรัม นำส่วนผสมทั้งหมดละลายในถังน้ำสะอาด 3 ลิตร
- ผสมวัตถุดิบ นำขี้เลื่อยไม้ยางพารา และสูตรอาหารเห็ดที่ละลายแล้ว เท่ลงเครื่องช่วยผสม ในระหว่างเดินเครื่องให้เติมน้ำสะอาด ควบคุมความชื้นให้เหมาะสมไม่เกิน 70% ถ้าความชื้นเกินปล่อยไว้ให้แห้งแล้วผสมอีกครั้ง นอกจากนี้บางพื้นที่ใช้รถไถส้มนั่งขับมาปั่นผสมวัตถุดิบ
- ส่วนผสมสูตรอาหารใช้ร่วมกันได้กับเห็ดหลายชนิด เช่น เห็ดบด ขอนขาว นางฟ้า นางรม
[ข้อควรรู้] ตรวจสอบความชื้น 70% โดยใช้มือบีบส่วนผสมให้แน่นแล้วปล่อย ขี้เลื่อยที่เหมาะสมจะรวมเป็นก้อนไม่แตกจากกัน การผสมตามสัดส่วนข้างต้นแต่ละครั้งจะได้ก้อนเชื้อเห็ดประมาณ 300 ก้อน

3 ขั้นตอนทำก้อนเชื้อเห็ด การอัดและบรรจุก้อนเชื้อเห็ด
- บรรจุขี้เลื่อยใส่ถุง นำส่วนผสมขี้เลื่อยบรรจุในถุง ให้ได้น้ำหนักประมาณ 0.8 - 1 กิโลกรัมต่อถุง
- อัดก้อนให้แน่น ใช้มือทุบถุงปั้นก้อนเห็ดให้แน่นพอสมควร ระวังถ้าทุบแรงถุงพลาสติกอาจแตก
- ปิดปากถุง สวมคอขวดพลาสติดและปิดฝาครอบปากถุง อัดวางให้เรียบร้อยเตรียมไปนึ่งฆ่าเชื้อ
[ข้อควรรู้] ใช้เครื่องบรรจุก้อนเห็ดจะได้น้ำหนักมาตรฐานเท่ากันและช่วยลดแรงงาน เพื่อความคุมทุนแต่ละรอบผลิตควรบรรจุก้อนเห็ดให้เต็มเตานึ่งฆ่าเชื้อ
4 การนึ่งฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในก้อนเชื้อเห็ดด้วยไอน้ำ
- นำก้อนเห็ดเข้าเตาอบ จัดเรียงบรรจุได้ประมาณ 1,200 - 1,500 ก้อนต่อครั้ง
- นึ่งฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำ อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสขึ้นไป ใช้ความร้อนต่อเนื่อง 5 - 6 ชั่วโมง ถ้าหมอต้มน้ำใช้ไม้ฟืนระวังอย่าให้ไฟดับจะควบคุมอุณหภูมิไม่ได้
- ปล่อยให้ก้อนเห็ดเย็นลงก่อนนำไปใส่เชื้อเห็ด
[ข้อควรรู้] การนึ่งก้อน คือ การฆ่ากำจัดเชื้อจุลินทรีย์ในก้อนเชื้อเห็ดทุกชนิด ที่ไม่ทนความร้อนต่ำกว่า 100 องศา ฯ เพื่อนำเชื้อราเห็ดเข้าไปแทนที่ ซึ่งขั้นตอนนี้จะเสร็จประมาณเที่ยงคืน

5 การหยอดเชื้อเห็ดใส่ก้อน และการบ่มเพาะเชื้อเห็ด
- เตรียมเชื้อเห็ด เคาะขวดเชื้อเห็ดให้เมล็ดข้าวฟ่างไหลลื่นไปมาได้
- ย้ายก้อนเห็ดเข้าพื้นที่ปิด มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดเชื้อไม่มีลม
- ทำความสะอาดมือและอุปกรณ์ใส่เชื้อเห็ด ไม่ดื่มสุรา สูบบุหรี่ และระวังเหงื่อหรือสิ่งปนเปื้อนอื่น
- หยอดเชื้อเห็ดลงก้อน เขย่าขวดเบา ๆ ให้เชื้อเห็ดในเมล็ดข้าวฟ่างทั่วขวดใช้ประมาณ 10 - 15 เมล็ด หนึ่งขวดใส่ได้ 30 - 35 ก้อน
- ปิดฝาถุงก้อนเห็ดให้สนิท
- บ่มในโรงเรือนอุณหภูมิปกติ ระยะเวลาเชื้อเห็ดเดินเต็มก้อนประมาณ 30 - 40 วัน สังเกตก้อนเชื้อเห็ดมีเส้นใยสีขาวเต็มถุงจึงสามารถเปิดดอกได้
[ข้อควรรู้] ขั้นตอนใส่เชื้อเห็ดให้ระมัดระวังป้องกันเชื้อราอื่นแฝงเข้าในก้อนเห็ด ควรใส่เชื้อเห็ดให้เสร็จก่อนเวลา 08:00 น. เพื่อหลีกเลี่ยงเวลาลมรบกวน

รวบรวมข้อมูลการทำเชื้อเห็ดจาก
- วิสาหกิจชุมชนเรียนรู้เพาะเห็ดบ้านคำข่า
- วิสาหกิจชุมชนปลูกเห็ดไร้สาร (โค้งคำนับฟาร์ม)
- วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตและอัดก้อนเห็ดบ้านโพนงาม
- วิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดบ้านกลาง
บทความที่เกี่ยวข้อง
เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ภายใต้งานวิจัย : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ปี พ.ศ.2566
ติดตามได้ที่ : Onepoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ