
ผลิตสินค้าแล้วไปขายไหน…? เสียงสะท้อนจากชุมชนกับการพัฒนาอาชีพ
ในระหว่างที่ "แตงโม" จัดโครงการพัฒนาและยกระดับอาชีพของชุมชน คำถามที่ได้รับฟังจากหลายพื้นที่คือ "ผลิตสินค้าแล้วจะขายที่ไหน?" แม้จะมีองค์ความรู้มากมายจากผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าชุมชนทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ แต่ปัจจัยที่ทำให้สินค้าขายไม่ออกก็ยังเป็นข้อสงสัยที่ต้องการคำตอบ ซึ่งมีบทเรียนสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น ความอดทนของผู้ประกอบการ คุณภาพสินค้า และเงินทุน เป็นต้น
เพื่อค้นหาคำตอบ "แตงโม" ได้ทดลองนำสินค้าชุมชนมาจำหน่ายในงานรวมน้ำใจไทสกลและงานกาชาด ปี 2568 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ ณ บริเวณศาลากลางจังหวัดสกลนคร โดยการดำเนินงานในครั้งนี้ถูกออกแบบให้เป็นรูปแบบของ "กิจการ" ที่มีการบริหารจัดการทั้งในด้านบุคลากร งบประมาณ และความคาดหวังด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าในงานแสดงสินค้าต่าง ๆ
การเตรียมการและวางแผน
- ประสานผู้จัดตลาด – ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสกลนครให้ใช้พื้นที่ฟรี โดยจ่ายเพียงค่าไฟวันละ 50 บาท พร้อมเต็นท์และอุปกรณ์เบื้องต้น
- การจัดหาสินค้า – รับสินค้าจาก 5 กลุ่มชุมชน ได้แก่ กลุ่มสมุนไพร กลุ่มผ้าคราม กลุ่มจักสาน และกลุ่มอาหาร รวม 38 รายการ คิดเป็นต้นทุน 49,890 บาท โดยมีการกำหนดเงื่อนไขการยืม-คืนสินค้าอย่างชัดเจน
- วิเคราะห์การลงทุน – ประมาณการค่าใช้จ่าย ค่าเช่าพื้นที่ ค่าไฟ ค่าวัสดุอุปกรณ์ตกแต่งร้าน และกำหนดราคาสินค้าให้เหมาะสมกับตลาด
- ออกแบบการทำงาน – แบ่งหน้าที่ทีมงานสำหรับการเปิดร้าน ขายสินค้า เก็บสินค้า และสรุปบัญชีรายวัน
- การจัดเตรียมและตกแต่งร้าน – ติดป้ายราคาสินค้า ให้ข้อมูลที่อยู่และเบอร์โทรของกลุ่มอาชีพ พร้อมเตรียมอุปกรณ์จัดเก็บสินค้าให้ปลอดภัย
ช่วงดำเนินการจำหน่ายและสรุปผลประกอบการ
- การเปิด-ปิดร้าน – กำหนดเวลาทำการตามจำนวนลูกค้าในแต่ละวัน เช่น เปิดเร็วขึ้นในวันหยุดและวันคอนเสิร์ต
- การต้อนรับหน่วยงานเยี่ยมชม – ได้ใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์สินค้าชุมชนแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- การขายออนไลน์ – มีการสร้างคอนเทนต์ประชาสัมพันธ์และเสนอขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
- รายงานผลประกอบการ – สรุปยอดขาย วิเคราะห์สินค้าขายดีและกำไรที่ได้รับ
บทเรียนจากการทดลองเปิดร้าน
- การออกร้านต้องมีทีมงานช่วยเหลืออย่างน้อย 2-3 คน
- ต้องมีเงินสำรองเพียงพอสำหรับช่วงยอดขายต่ำ
- ควรสร้างความสัมพันธ์กับเครือข่ายการค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์
- ร้านค้าประจำมีข้อได้เปรียบกว่าร้านค้าชั่วคราว
การค้าขายไม่ใช่แค่เรื่องของสินค้าดีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความอดทน การปรับตัว และการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและผู้ค้าอื่น ๆ "แตงโม" ได้พิสูจน์แล้วว่าการออกขายสินค้าด้วยตนเองเป็นบทเรียนสำคัญที่ช่วยให้เข้าใจตลาดและพัฒนาธุรกิจได้อย่างแท้จริง ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่กำลังมุ่งมั่นสร้างอนาคตทางการค้าของตนเอง
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง