มรภ.สกลนคร จับมือผู้เปราะบางแปรรูปสบู่สมุนไพร

ที่เทศบาลตำบลโพนแพง อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 นักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ทีมปฏิบัติการโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง ฯ จัดเวทีฝึกทักษะการแปรรูปสบู่ด้วยสมุนไพร เพื่อประเมินศักยภาพกลุ่ม สร้างความรู้จัก รู้แรงงานความตั้งใจ และสร้างคน-ของ-ตลาด ด้วยแนวคิดปิ่นโตครัวเรือน

นายเสมอ จำรักษา นายกเทศมนตรีตำบลโพนแพง เป็นประธานกล่าวเปิดและกล่าวปิดงาน โดยมี อาจารย์สายฝน ปุนหาวงค์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนบริหารโครงการและงบประมาณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (หัวหน้าโครงการวิจัยเกษตรมูลค่าสูง ฯ) กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ พร้อมด้วย อาจารย์อรอนงค์ ขันเดช รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และหัวหน้าหน่วยงานและเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลโพนแพง ผู้นำชุมชน กลุ่มผู้เปราะบางและผู้ด้อยโอกาสตำบลโพนแพง เข้าร่วมกิจกรรม

เทศบาลตำบลโพนแพง อนุเคราะห์นำรถรับ - ส่งกลุ่มเป้าหมายมาร่วมงาน ล้อหมุนรับรอบแรกเวลา 07.00 น. และส่งกลับประทับใจรอบสุดท้ายเวลา 16.00 น. นักวิจัยเน้นสร้างบรรยากาศเวทีเป็นกันเอง เพิ่มองค์ความรู้และลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอน ตั้งแต่เตรียมวัตถุดิบจนถึงเป็นก้อนสบู่ ไฮไลท์ในงานคือ

  • ปฏิบัติการจับมือแปรรูปสบู่ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม
  • นันทนาการ ถาม-ตอบ ทบทวนองค์ความรู้ ร้องเพลง (รับของรางวัล)
  • มอบเสื้อผ้าเครื่องนุ่งหุ่ม "มัชรูมมัดใจ"
  • ผู้แทนกลุ่มเป้าหมายกล่าวสรุปขั้นตอนการแปรรูปสบู่
  • แบ่งปันสบู่กลับไปทดลองใช้ที่บ้าน ผู้เข้าร่วมงานมอบสบู่ให้นายกเทศมนตรีตำบลโพนแพงและคณะ

ความคาดหวังก่อนดำเนินงาน อยากทำความรู้จักกันให้มากขึ้น รู้แรงงาน รู้ศักยภาพ รู้ความตั้งใจ รู้คน ของ ตลาด ในระหว่างการจัดกิจกรรมขอบอกว่าทีมเข้มแข็งมาก ถึงร่ายกายจะไม่พร้อมแต่ใจเกินร้อย หลายคนที่เข้าร่วมกิจกรรมบ่นว่า "อาจารย์มาจัดโครงการวิจัยช้า น่าจะมาไวกว่านี้" ดูภาพรวมการแปรรูปสบู่เสร็จเวลา 15.00 น มีรอยยิ้มและความหวังให้บรรยากาศการ LIVE บอกเรื่องราวแทนการเล่าว่าสำเร็จ


ปิ่นโตครัวเรือน เราวิเคราะห์ช่องว่างมีอะไรบ้างในการพัฒนาอาชีพ มีเป้าหมายคือสร้างรายได้ให้กลุ่มเปราะบาง มีคำถามอยู่ว่า จะมีคนสนใจทำไม จะมีแรงงานทำไหม เราจะผูกปิ่นโตไปพร้อมใครบ้าง เพื่อประเมินศักยภาพหลอมรวมกลุ่ม ทุกคนมีทักษะผ่านการอบรมมาแล้วหลายโครงการ แต่ยังไม่เคยได้ปฏิบัติการลงมือทำเอง

นอกจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีแล้ว การสื่อสารและการบริหารความคาดหวังกับกลุ่มเป้าหมายผู้เปราะบาง ก็เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะอาชีพและพัฒนาการ เพราะว่าใจพร้อมอะไรก็พร้อม นี่เป็นประสบการณ์ครั้งแรกได้เจอกับความเปราะบางที่หลากหลาย ขอบคุณแม่จุ้ย แม่เพ็ญ ระบบและกลไกของ อพม. ตำบลโพนแพง อำเภออากาศอำนวย โดย พมจ.สกลนคร ที่ช่วยให้นักวิจัยได้สื่อสารความคาดหวังกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์

งานวิจัยแพลตฟอร์มนี้ ทำให้นักวิจัยได้ทำงานวิจัยที่มีคุณค่า มันคือการสร้างโอกาสทางสังคมจริง ๆ นะ เมื่อคนที่อยู่ตรงหน้าคือกลุ่มเปราะบาง เราพร้อมเดินเข้าไปโอบกอดทุกคนทุกความรู้สึก และพร้อมให้ทุกคนปล่อยความสามารถออกมาได้เต็มที่ มียายคนหนึ่งพูดเบา ๆ ว่า "อย่ารอหรือพูดครั้งหน้าค่อยทำเลย ไม่รู้ยายจะอยู่ได้เห็นไหม" พอได้ยินคำนี้ ผมไม่รู้สึกเศร้า กลับกันรู้สึกมีพลังที่จะสร้างสรรค์บรรยากาศให้อบอุ่น อย่างน้อยให้คุณยายได้ยิ้มอีกครั้ง นี่แหละคือแก่นแท้ของคำว่า "วิจัย ความคิด ชีวิต วัฒนธรรม"























เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ติดตามได้ที่ Onepoverty และ blockdit และ Facebook 
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

2 ความคิดเห็น

  1. ไม่ระบุชื่อ20/5/67

    ขอบคุณ อ.สายฝน อ.แตงโม จากราชภัฏสกลนคร จัดกิจกรรมได้ประทับใจ ได้ความรู้ สนุก อยู่ได้ทั้งวันค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบพระคุณที่ติดตาม เป็นกำลังใจซึ่งกันและกันนะครับ

      ลบ
แสดงความคิดเห็น
ใหม่กว่า เก่ากว่า