ม.ราชภัฏสกลนคร เสนอแนวคิด “ปิ่นโตครัวเรือน” ช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบาง



นักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร ร่วมกับหน่วยงานภาคีนำร่องพื้นที่ตำบลโพนแพง รวมกลุ่มหรือชมรมเพื่อบริหารจัดการ “จัดสวัสดิการ” ด้วยแนวคิดโมเดล "ปิ่นโตครัวเรือน” ให้กับสมาชิกกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส ไม่ว่าจะเป็นด้านการสงเคราะห์หรือการพัฒนาทักษะอาชีพ เกิดการสร้างอาชีพจนสามารถมีรายได้ให้กลุ่มยืนอยู่ด้วยตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี สร้างเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (SSE) 

เพื่อการบรรเทาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ จัดโดยโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนคร สนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ที่เทศบาลตำบลโพนแพง อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย เป็นประธานกล่าวชี้แจงเป้าหมายการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสระดับอำเภอ 

ดยมี นายเสมอ จำรักษา นายกเทศมนตรีตำบลโพนแพง กล่าวต้อนรับ คณะนักวิจัยนำโดย ผศ.ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผศ.ดร.สาคร อินทะชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และนักศึกษาวิศวกรสังคม พร้อมด้วยหน่วยงานภาคี นายธีรพงศ์ นิระเคน ผู้แทนจาก สนง.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสกลนคร คุณไทยวัน ชมภูทอง ประธานชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดสกลนคร อพม.ตำบลโพนแพง และกลุ่มเป้าหมาย เข้าร่วมกิจกรรม 80 คน


นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย

โมเดล “ปิ่นโตครัวเรือน” เป็นการนำร่องให้รวมกลุ่มหรือชมรมขับเคลื่อนงานการบริหารจัดการ “จัดสวัสดิการ” ด้านสงเคราะห์และพัฒนาอาชีพ ให้สมาชิกกลุ่มครัวเรือนเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส ด้วยการสร้างอาชีพให้สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง พัฒนาระบบและกลไกกลุ่มหรือชุมชนให้เข้มแข็งและจัดตั้งเป็นทางการ พร้อมที่จะเป็นสะพานเชื่อมโยงองค์การกุศลและหน่วยงาน CSR เข้ามาหนุนเสริมในจุดที่กลุ่มหรือชมรมมีศักยภาพไม่ถึง มีจำนวนผู้ได้รับผลประโยชน์ 60 ครัวเรือน

ทีมนักวิจัยเน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพื่อเข้าใจว่าแต่ละคนมีศักยภาพอะไร ซึ่งเป็นก้าวแรกที่จะ Empowerment ให้กลุ่มหรือชมรมเดินไปสู่ความสำเร็จและมีเป้าหมายเดียวกัน “ปิ่นโตครัวเรือน” มีกระบวนการพัฒนาโมเดล ได้แก่

  1. การสร้างความเข้าใจเข้าถึงศักยภาพของบุคคล เพื่อบริหารจัดการความคาดหวัง สู่การวางแผนดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมและการบริหารความเสี่ยง
  2. การพัฒนาโมเดลปิ่นโตครัวเรือน ให้มีกิจกรรมการผลิตที่สามารถยืนได้ด้วยตนเอง เพิ่มทักษะอาชีพให้กับสมาชิกในครัวเรือน ของผู้เปราะบาง ทำอาชีพเพาะเห็ดและสบู่สมุนไพรเพื่อใช้ในกลุ่มและจำหน่าย ด้วยโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมวิเคราะห์ระบบผลิตเพื่อหาช่องว่างที่กลุ่มมีศักยภาพไม่ถึง เช่น การจ้างงาน การเข้าถึงปัจจัยการผลิต การตลาด พร้อมทั้งเทคโนโลยีที่เหมาะสมลดความเสียหายในการผลิต ร่วมถึงการส่งเสริมฟื้นฟูศักยภาพ เพื่อพัฒนาร่างกายและจิตใจผู้เปราะบาง
  3. การติดตามและเชื่อมโยงภาคี นำเสนอโมเดลเพื่อสังคมกับหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและเอกชนสร้างเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (SSE) ให้การสนับสนุนกลุ่มหรือชมรมเพื่อจัดสวัสดิการให้สมาชิกกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงเข้าสู่แผนพัฒนาตำบล อำเภอ จังหวัด เพื่อจัดสรรงบประมาณโครงการได้อย่างแม่นยำตรงเป้าหมาย พร้อมกับการถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาเครื่องมือนำไปใช้ในพื้นที่อื่น


กลยุทธ์ “ปิ่นโตครัวเรือน” จะสร้างพลังในชุมชน เพื่อสร้างความคุ้มครองในสังคมและสร้างสังคมสร้างสรรค์ ด้วยศักยภาพของสมาชิกในครัวเรือนกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส รวมไปถึงการส่งเสริมฟื้นฟูศักยภาพเพื่อพัฒนาร่างกายและจิตใจผู้เปราะบาง นอกจากนี้ปิ่นโตครัวเรือนยังหมายถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัย

มาร่วมมือนำร่องโมเดลนี้ให้เกิดรูปธรรมด้วยกันที่แรก ในตำบลโพนแพง อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ด้วยแนวคิดสร้างเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ (SSE) ประกอบด้วย 5 มิติ โดย แรงงาน สิ่งแวดล้อม และความมั่งคั่ง ซึ่งเป็น 3 มิติแรกที่ระบบให้ความสำคัญ แรงงานจะต้องเป็นศูนย์กลางของธุรกิจและการพัฒนา และ อีก 2 มิติ คือ ค่านิยมทางจริยธรรมที่ควรให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน มิติสุดท้ายคือ ธรรมาภิบาล ธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม โครงสร้างการบริหารจึงควรเน้นการมีส่วนร่วมและยึดหลักประชาธิปไตย



นายเสมอ จำรักษา นายกเทศมนตรีตำบลโพนแพง

ผศ.ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

ผศ.ดร.สาคร อินทะชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา

อ.สายฝน ปุนหาวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัยโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง

นายธีรพงศ์ นิระเคน ผู้แทนจาก สนง.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสกลนคร

คุณไทยวัน ชมภูทอง ประธานชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดสกลนคร

ดร.มาลี ศรีพรหม อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร




.....
เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ Onepoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า