วันหยุดยาวเทศกาล คือช่วงที่ชาวบ้านสร้าง Soft Power

เหตุผลที่เกษตรกร ดีใจกับวันหยุดช่วงเทศกาล ที่จริงจะหยุดวันไหนก็ได้ 

การดำรงชีพในชุมชน ไม่ได้มีรถยนต์กันทุกครัวเรือน บ้านไหนที่มีรถยนต์จะเข้าใจดี เพราะในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว เช่นวันสงกรานต์ปีนี้ หยุดระหว่างวันที่ 12 - 16 เม.ย. 2567 ความหมายคือทั้งคนและรถก็หยุดด้วย จึงเป็นโอกาสชวนกันไปเยี่ยมญาติ 

ยิ่งตระกูลไหนมีเครือญาติเยอะจะชวนกันไป รวมกันแล้วทั้งคนและของฝากบรรทุกไปเต็มคันรถ ตอนเด็ก ๆ ผมงงมาก ไม่รู้เลยว่าใครคือญาติฝ่ายพ่อ ฝ่ายแม่ เยอะไปหมด 

นอกจากความคิดถึงจึงไปเยี่ยมกันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งผมคิดว่าเป็นส่วนสำคัญ ที่มีผลต่อการถ่ายทอดวัฒนธรรม องค์ความรู้ต่าง ๆ คือไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเพื่อนำมาใช้ที่บ้าน ส่วนใหญ่แล้วคงหนีไม่พ้นพันธุ์ข้าว ซึ่งผมได้เขียนบทความหนึ่งว่า การจะส่งเสริมอาชีพใดใด นอกจากเหมาะสมแล้ว ควรเป็นหนึ่งเดียวกับวัฒนธรรมในชุมชน ถึงจะยั่งยืน


การพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องเป็นส่วนหนึ่งกับวัฒนธรรมในชุมชน

ช่วงเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้จัดเวทีมองภาพอนาคตการแก้จนระดับอำเภอ ได้เชิญกลุ่มอาชีพเพาะเห็ดและทำนาปรัง ที่เข้าร่วมปฏิบัติการโมเดลแก้จน เข้าร่วมสะท้อนข้อมูลด้วยจึงเป็นเหตุให้รู้จักกัน

ทีมนักวิจัยได้พัฒนาต่อยอด ต้นแบบเทคโนโลยีคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยสาขาเทคโนโลยีเครื่องกลและการผลิต คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร พร้อมทั้งได้ส่งมอบเครื่องต้นแบบให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำนาปรังมูลค่าสูง เมื่อเดือนมีนาคม 2567

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดบ้านกลาง ต.โพนแพง (พี่เลี้ยงชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ) ชวนสมาชิกไปดูเทคโนโลยีต้นแบบการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว อยู่ที่กลุ่มนาปรังมูลค่าสูงบ้านดงสาร ต.โพนงาม อยู่ในอำเภออากาศอำนวย พร้อมกับนำพันธุ์ข้าวที่จะลงทำนาปีนี้ มาทดลองคัดเมล็ดพันธุ์ด้วยที่มีคุณภาพด้วย

จะเห็นได้ว่าเกษตรกรทำนา มีปัญหาด้านเมล็ดพันธุ์และแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาแก้ไขปัญหาหรือมาพัฒนา เมื่อมีเทคโนโลยีพร้อมใช้แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จะเผยแพร่ข่าวสาร และเชิญชวนผู้อื่นในอาชีพเดียวกัน เข้าถึงผลประโยชน์ด้วยวัฒนธรรม เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ การถ่ายทอดองค์ความรู้การคัดเมล็ดพันธุ์ในครั้งนี้

ทีม ศ.ดงสาร ทำให้งานเกิดผลกระทบได้ ซึ่งปกติผลกระทบไม่ค่อยเกิดในปีที่ทำโครงการ หรือส่วนใหญ่แทบไม่เกิดเลย  ยิ่งใช้เทคโนโลยีร่วมกันแบบข้ามอาชีพ ข้ามหมู่บ้าน เกิดขึ้นได้ยากมาก เหตุการณ์แบบนี้แหละ เป็นต้นแบบที่ทุกหน่วยงานวาดฝัน นี่คือ Soft Power ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย




เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ Onepoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า