บุญกองข้าว (นาปรัง) อะไรคือคุณค่าและมูลค่า


บุญกองข้าว (นาปรัง) "สู่ขวัญข้าว เอิ้นขวัญคน"

ประเพณีบุญกองข้าว เป็นงานบุญที่สำคัญเกี่ยวกับการทำนาและข้าว โดยทั่วไปจัดขึ้นในเดือนสาม เนื่องจากบ้านดงสาร ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม จึงเปลี่ยนวิถีการเกษตรเป็นทำนาปรัง หลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังเสร็จ ช่วงประมาณเดือนห้าจะจัดบุญกองข้าว (นาปรัง) 

งานบุญกองข้าว ถือเป็นโอกาสอันดี ที่ชาวบ้านดงสารหรือหมู่บ้านใกล้เคียง ได้มาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในการทำนา ทั้งองค์ความรู้ วิธีการทำนาใหม่ ๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในฤดูกาลหน้า เช่น พันธุ์ข้าว เทคโนโลยีช่วยลดแรงงาน ราคาและการตลาด แนวโน้มการสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นต้น และเป็นการสืบสานวัฒนธรรมด้านการทำนา ขอขมาพระแม่โพสพ

ในปี 2567 ชาวบ้านดงสารได้กำหนดงานบุญกองข้าว (นาปรัง) ในวันที่ 27 เมษายน 2567 (แรม 4 ค่ำ เดือน 5) จัดโดยคณะกรรมการหมู่บ้านดงสาร และ วิสาหกิจชุมชนนาปรังมูลค่าสูง ซึ่งชาวบ้านได้เชิญนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และทีมปฏิบัติการโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง ฯ มาร่วมงาน

มนต์ขลังบุญกองข้าวบ้านดงสาร อยู่ที่การ "สู่ขวัญข้าว เอิ้นขวัญคน" ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกมารวมกันกองใหญ่ เพื่อดำเนินพิธีกรรมด้านพรหมและด้านพุทธศาสนา จากนั้นคณะกรรมการวัด/หมู่บ้าน จะนำข้าวไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน (Soft Power) หรือที่หลายคนเคยคุ้นกับคำว่าสร้าง "มูลค่าและคุณค่า"

คุณคงได้ยินคำว่าสร้างมูลค่าและคุณค่าแล้ว แต่รู้ไหมว่าอะไรคือมูลค่าและคุณค่า…?

มูลค่าข้าวนาปรัง

แน่นอนว่าเป็นเศรษฐกิจคือสิ่งที่เรามองเห็นได้ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ได้แก่ การระดมทุนบอกบุญ เงินผูกแขน มหรสพคบงัน การขายสินค้าในงานบุญ นอกจากนี้ยังได้สถาปนาตั้งกองทุน "คลัง-เมล็ดพันธุ์-ข้าว" รวมเงินกองทุนได้ 54,000 บาท 

ซึ่งคาดการณ์ว่างานนี้จะเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท สร้างผลกระทบส่งรายได้เข้ารัฐจากการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% หรือ 7,000 บาท แต่ถ้ามีแรงบริโภคภายในชุมชนเกิดขึ้นหลายรอบ ก็จะเก็บเงินภาษีได้หลายรอบ สิ่งนี้เรียกว่าวัฏจักรเศรษฐกิจชุมชน (Local Economic)

คุณค่าของข้าวนาปรัง

หลายคนอาจมองว่าคือพิธีกรรม แต่ผมอยากบอกว่าไม่ใช่ทั้งหมด ทุกคนเห็นฝ้ายผูกแขนที่เตรียมไว้ในพานบายศรีไหมจะมีสีขาวล้วน แล้วมองเส้นฝ้ายที่ผูกในข้อมือผมจะมีหลากหลายสี ผมเห็นคุณยายหยิบฝ้ายที่นำมาจากบ้าน แสดงถึงความรักและความห่วงใย เพื่อนำมาผูกให้ผมและอาจารย์ น้ำตาผมเกือบไหลด้วยความปลื้มปิติ

คุณรู้ไหมว่าฝ้ายเหล่านี้เอามาจากไหน อย่างเช่นแม่ของผมท่านชอบไปทำบุญสวดมนต์ ก็จะได้เส้นด้ายที่ผ่านพิธีตามความตั้งมั่น เพื่อเอามาให้บุคคลเป็นที่รัก ลูกหรือหมู่ญาติ กล่าวคือนักวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของทุกครอบครัวในชุมชน

สรุปได้คือบุญกองข้าว (นาปรัง) จะเกิด "คุณค่า" อยู่ที่ปัจเจกชน แต่ละคนจะแสดงความซาบซึ้งหรือความพึงพอใจต่างกัน ก่อเกิดการสร้าง "มูลค่า" การซื้อ-ขายหรือการมอบให้ จะมีมูลค่าตามระดับความซาบซึ้งหรือความพอใจที่จะให้ นี่แหละคือการสร้าง “คุณค่าสู่มูลค่าสูง” ที่ชาวบ้านดงสารมอบให้ผม ขอบคุณทุกคนนะครับ





เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ Onepoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า