นักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร หลังจบโครงการวิจัย แต่พื้นที่ดำเนินการเกิดผลกระทบ จึงต้องทำตามข้อตกลงกับชาวบ้านดงสาร ที่ก่อนเข้าร่วมปฏิบัติการโมเดลแก้จนรับปากว่า ถ้าบรรลุวัตถุประสงค์จะช่วยระดมทุนมาสนับสนุนชุมชน โชคชะตาลิขิตเข้าข้างชุมชนจึงได้มาร่วมงานใหญ่ บุญกองข้าว "สู่ขวัญข้าว เอิ้นขวัญคน"
ประเพณีบุญกองข้าว (นาปรัง) บ้านดงสาร
ประเพณีบุญกองข้าว เป็นงานบุญที่สำคัญเกี่ยวกับการทำนาและข้าว โดยทั่วไปจัดขึ้นในเดือนสาม เนื่องจากบ้านดงสาร ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม จึงเปลี่ยนวิถีการเกษตรเป็นทำนาปรัง หลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังเสร็จ ช่วงประมาณเดือนห้าจะจัดบุญกองข้าว (นาปรัง)
งานบุญกองข้าว ถือเป็นโอกาสอันดี ที่ชาวบ้านดงสารหรือหมู่บ้านใกล้เคียง ได้มาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในการทำนา ทั้งองค์ความรู้ วิธีการทำนาใหม่ ๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในฤดูกาลหน้า เช่น พันธุ์ข้าว เทคโนโลยีช่วยลดแรงงาน ราคาและการตลาด แนวโน้มการสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นต้น และเป็นการสืบสานวัฒนธรรมด้านการทำนา ขอขมาพระแม่โพสพ
ในปี 2567 ชาวบ้านดงสารได้กำหนดงานบุญกองข้าว (นาปรัง) ในวันที่ 27 เมษายน 2567 (แรม 4 ค่ำ เดือน 5) จัดโดยคณะกรรมการหมู่บ้านดงสาร และ วิสาหกิจชุมชนนาปรังมูลค่าสูง ซึ่งชาวบ้านได้เชิญนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นำโดย ผศ.ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และทีมปฏิบัติการโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง ฯ โดยอาจาย์สายฝน ปุนหาวงค์ มาร่วมงาน
มนต์ขลังบุญกองข้าวบ้านดงสาร อยู่ที่การ "สู่ขวัญข้าว เอิ้นขวัญคน" ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกมารวมกันกองใหญ่ เพื่อดำเนินพิธีกรรมด้านพราหมณ์และด้านพุทธศาสนา จากนั้นคณะกรรมการวัด/หมู่บ้าน จะนำข้าวไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน (Soft Power) หรือที่หลายคนเคยคุ้นกับคำว่าสร้าง "คุณค่าและมูลค่า" และชาวบ้านได้เชิญ อ.สายฝน ปุนหาวงค์ ร้องเพลงเปิดงาน
อธิบายไปก็ยากที่จะเชื่อ ทั้งนักวิชาการและชาวเน็ตต้องการมีหลักฐานเชิงประจักษ์ ผมในฐานะผู้ร่วมกระบวนการวิจัยจึงยกงานบุญกองข้าว (นาปรัง) ที่ชาวบ้านกำหนดจัดในช่วงที่โครงการวิจัยจบไปแล้ว แต่ด้วยความรู้แจ้งอาจเป็นเพราะเทคโนโลยีและนวัตกรรมองค์ความรู้ จากนักวิจัยส่วนหนึ่งที่ได้ผลผลิตมากขึ้นจึงคิดถึงกัน
ย้อนความจริงมีอยู่ในงาน "คลัง-เมล็ดพันธุ์-ข้าว"
จะบอกว่าปีนี้โชคดีหรือเป็นผลงานของรัฐบาลดีนะ ตลาดรับซื้อข้าวเปลือกมีราคาปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับปีนี้น้ำท่วมสูงและนานมาก ชาวบ้านบอกว่าส่งผลทำให้ระบบนิเวศน์ปรับสมดุลระหว่างดินและน้ำ แต่จะเป็นปัจจัยอะไรก็แล้วแต่ เกษตรกรทำนาปรังอยู่ที่ "ทุ่งพันขัน" ปีนี้มีความสุขได้ผลผลิตเยอะขายได้ราคาดี มีเงินเข้ากระเป๋าสตางค์มากขึ้น มีบางคนกระซิบเบา ๆ กับผมว่า คนที่มีพื้นที่ทำนาปรังเยอะได้เงินถึง 7 หลัก
หรืออาจเป็นเพราะมีทีมนักวิจัยและนักศึกษาวิศวกรสังคม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เข้ามาปรับแนวคิดให้ชาวบ้านตระหนักถึงความสำคัญ การคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวก่อนลงมือหว่านข้าวนะ และร่วมจิตอาสาดำนา เกี่ยวข้าว แต่หลายคนหลายความคิดเอาเป็นว่าปีนี้ มีตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้ได้ผลผลิตมากขึ้น คือ ธรรมชาติ ตลาด งานวิจัย ซึ่งปฏิบัติการวิจัยโมเดลแก้จนได้รับสนับสนุนทุนจากหน่วย บพท.
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2566 กิจกรรมสร้างความเข้าใจและข้อตกลงก่อนดำเดินการวิจัย หรือสัญญาประชาคมว่า ถ้าชาวบ้านให้ความร่วมมือและมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ นักวิจัยจะระดมทุนมาช่วยหมู่บ้าน แล้วแต่จะบอกบุญมาเพื่อฉลองความสำเร็จ
ขออนุโมทนา ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยให้เกิดผลลัพธ์กับการวิจัยที่ได้รับเกินกว่าที่ตั้งไว้ คือ เกิดระบบและกลไกดำเนินการต่ออย่างยั่งยืน กองทุน องค์ความรู้ การเชื่อมโยงภาคีและส่งต่อโอกาสใหม่ เช่น แปรรูปข้าวเม่า และการท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น หัวหน้าโครงการและนักวิจัยจึงสนับสนุนตามสัจจะวาจา นี่คือที่มาของงานบุญกองข้าว (นาปรัง) สัญญาใจระหว่างชาวบ้านกับนักวิจัย
รู้ไหมว่าอะไรคือมูลค่าและคุณค่า…? ระหว่าง "บุญกองข้าว" กับ "คลังเมล็ดพันธุ์ข้าว"
มูลค่าจากข้าวนาปรัง
แน่นอนว่าเป็นเศรษฐกิจคือสิ่งที่เรามองเห็นได้ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ได้แก่ การระดมทุนบอกบุญ เงินผูกแขน มหรสพคบงัน การขายสินค้าในงานบุญ นอกจากนี้ยังได้สถาปนาตั้งกองทุน "คลัง-เมล็ดพันธุ์-ข้าว" รวมเงินกองทุนได้ 54,000 บาท
ซึ่งคาดการณ์ว่างานนี้จะเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท สร้างผลกระทบส่งรายได้เข้ารัฐจากการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% หรือ 7,000 บาท แต่ถ้ามีแรงบริโภคภายในชุมชนเกิดขึ้นหลายรอบ ก็จะเก็บเงินภาษีได้หลายรอบ สิ่งนี้เรียกว่าวัฏจักรเศรษฐกิจชุมชน (Local Economic)
คุณค่าของข้าวนาปรง
หลายคนอาจมองว่าคือพิธีกรรม แต่ผมอยากบอกว่าไม่ใช่ทั้งหมด ทุกคนเห็นฝ้ายผูกแขนที่เตรียมไว้ในพานบายศรีไหมจะมีสีขาวล้วน แล้วมองเส้นฝ้ายที่ผูกในข้อมือผมจะมีหลากหลายสี ผมเห็นคุณยายหยิบฝ้ายที่นำมาจากบ้าน แสดงถึงความรักและความห่วงใย เพื่อนำมาผูกให้ผมและอาจารย์ น้ำตาผมเกือบไหลด้วยความปลื้มปิติ
คุณรู้ไหมว่าฝ้ายเหล่านี้เอามาจากไหน อย่างเช่นแม่ของผมท่านชอบไปทำบุญสวดมนต์ ก็จะได้เส้นด้ายที่ผ่านพิธีตามความตั้งมั่น เพื่อเอามาให้บุคคลเป็นที่รัก ลูกหรือหมู่ญาติ กล่าวคือนักวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของทุกครอบครัวในชุมชน
สรุปได้คือบุญกองข้าว (นาปรัง) จะเกิด "คุณค่า" อยู่ที่ปัจเจกชน แต่ละคนจะแสดงความซาบซึ้งหรือความพึงพอใจต่างกัน ก่อเกิดการสร้าง "มูลค่า" การซื้อ-ขายหรือการมอบให้ จะมีมูลค่าตามระดับความซาบซึ้งหรือความพอใจที่จะให้ นี่แหละคือการสร้าง “คุณค่าสู่มูลค่าสูง” ที่ชาวบ้านดงสารมอบให้ผม ขอบคุณทุกคนนะครับ
เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ Onepoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ