เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2565 มรภ.สกลนคร. โดยโครงการพัฒนากระบวนการเพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยระบบการผลิตเกษตรมูลค่าสูงฯ ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาการผลิตเห็ดเชิงพาณิชย์ ณ วิสาหกิจชุมชนเรียนรู้การเพาะเห็ดบ้านคำข่า ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร โดยมีกลุ่มเป้าหมายเครือข่ายมัชรูมมัดใจ (ธุรกิจเพื่อสังคม) เข้าร่วม 50 คน
ดร.ธนภักษ์ อินยอด นักวิจัยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ได้บรรยายเกี่ยวกับการเพาะเห็ดเศรษฐกิจทั่วไป ในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 7,000 ล้านบาท/ปี และวิธีการเพาะเห็ดนางฟ้าโดยวัสดุจากฟางข้าวเพื่อลดต้นทุนและใช้ทรัพยากรในพื้นที่ พร้อมด้วย นายธนภัทร เติมอารมณ์ และนางสาวสุริมา ญาติโสม ได้สาธิต
- ฝึกปฏิบัติการการทำอาหารแข็งจากมันฝรั่งและอาหารสำเร็จ
- ฝึกปฏิบัติการการแยกเชื้อ การเตรียมหัวเชื้อเห็ดทั่วไป
- ฝึกปฏิบัติการการเตรียมฟางข้าว การทำก้อนเชื้อเห็ดจากฟางข้าว
พร้อมกันนี้ ได้ตอบคำถามกลุ่มเป้าหมาย ปัญหาและอุปสรรคที่พบกระบวนการผลิตปัจจุบัน เช่น การนึ่งก้อนเชื้อเห็ด การดูแลก้อนเชื้อ และการเปิดดอกเห็ด
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ วว. มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการใช้เทคโนโลยีร่วมกัน (co- share) ในระหว่างเครือข่ายยที่เหมาะสม เพื่อการดำเนินธุรกิจจำหน่ายเห็ดครบทุกห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) โดยใช้ทรัพยากรในพื้นที่ สร้างงาน/จ้างงานในพื้นที่ และกระจายรายได้ในพื้นที่ ซึ่งมีห่วงโซ่อาชีพอื่น ๆ ได้แก่ ทำนา ทำเห็ด ทำปุ๋ย การแปรรูป เป็นระบบนิเวศธุรกิจเพื่อสังคม
ถือเป็นการออกแบบนวัตกรรมการเพาะเห็ดแก้จน ที่ตอบโจทย์และสอดคล้องกับโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจนำไปสู่ความยั่งยืน (BCG Model) ดังนี้
- ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ควบคู่กับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มจากฟางข้าวนำมาผลิตเห็ดนางฟ้าทดแทนขี้เลื่อยไม้ยางพารา
- ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ใน 3 เรื่องหลัก คือ การใช้งานผลิตภัณฑ์เต็มวงจร (Reuse, Refurbish, Sharing) การแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) และการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Zero-Waste) จากการนำก้อนเห็ดขอนขาวเก่าหมุนเวียนกลับมาเพาะเห็ดนางฟ้าได้อีก โดยการผสมขี้เลื่อยใหม่สัดส่วน 50%
- ระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ก้อนเห็ดเก่าสามารถทำเป็นสารปรับปรุงดินได้
ความประทับใจในการอบรม
“ดีใจที่มีโอกาสได้เพิ่มธุรกิจใหม่ผลิตหัวเชื้อเห็ด แต่ก่อนทำไมไม่เจอโครงการดี ๆ แบบนี้” แม่โสพิศ อายุ 55 ปี
“วันนี้ได้แนวทางการปฏิบัติเยอะมากเลยครับวิทยากรเป็นกันเองมาก ถามอะไรตอบได้หมดสุดยอดจริง ๆ ที่สำคัญเราได้พูดคุยกันถึงปัญหาที่เราพบเจอและได้แนวทางในการแก้ไขปัญหามีเทคนิคและวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องขอบคุณมาก ๆ เลยครับผม” ณรงค์ฤทธิ์ อายุ 29 ปี
“ได้สัมผัสในสิ่งที่น่าภูมิใจ เก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างมีความสุขมาก ๆ ครับ ขอบคุณครับ” วัชรพงษ์ อายุ 16 ปี
“มีความรู้เพิ่ม มีความคิดใหม่ รู้สึกเพิ่มประสบการณ์ให้กับชีวิต อยากสร้างโรงเรือนเห็ด สนุกสนานประทับใจในการเข้าร่วมกิจกรรมนี้” เหนือเมฆ อายุ 16 ปี
“ความรู้ที่ได้รับในวันนี้ทำให้เราได้มีแนวทางที่จะนำมาแก้ปัญหาและยกระดับสินค้า จะนำวิธีการต่าง ๆ มาพัฒนาโรงเรือนเห็ดของเรา” อิสรา อายุ 18 ปี
บทความที่เกี่ยวข้อง
เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในสกลนคร ติดตามได้ที่ Onepoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ