สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการทางสังคม (SE) หนุนเสริมวิจัยแก้จน


โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนคร ระยะที่ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการการเรียนรู้สู่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคม (SE : Social Entrepreneur) ภาคอีสาน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน 2565 โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนคร ระยะที่ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครร่วมกับ สาขาวิชาผู้ประกอบการทางสังคมยุคดิจิทัล (SEDA) วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต , บริษัท วิชแอนด์ไวส์ จำกัด และ วิสาหกิจชุมชนธรณินอินทรีย์ จังหวัดสกลนคร 

จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการการเรียนรู้สู่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคม (SE : Social Entrepreneur) ภาคอีสาน ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลกุดบาก ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร โดยมีผู้เข้าร่วมจากเกษตรกร กลุ่ม/ชุมชน และ วิสาหกิจชุมชน ที่มีความสนใจยกระดับวิสาหกิจชุมชนสู่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคม ในพื้นที่ภาคอีสานจำนวนรวม 60 คน

อาจารย์สายฝน ปุนหาวงค์ สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ หัวหน้าโครงวิจัยย่อยการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดสกลนคร กล่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้ขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดสกลนคร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ประสบผลสำเร็จมาเป็นลำดับ 

การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาการเรียนรู้สู่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคม (SE : Social Entrepreneur)” ในครั้งนี้ โดยใช้จังหวัดสกลนครเป็นพื้นที่นำร่อง เป็นรูปแบบการเรียนรู้เชิงรุก ใช้กระบวนการกลุ่ม และ การให้คำแนะนำปรึกษาผ่านกระบวนการโค้ช (Coaching) เน้นการพึ่งพากันและกัน ใช้จุดแข็งของตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น 

ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วม ร่วมเรียนรู้ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมรับผิดชอบ มุ่งหวังให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เห็นแนวคิดในการพัฒนาตนเอง ด้วยแนวคิด ปลูกความคิด ปลูกชีวิต ปลูกจิตวิญญาณ การเป็นผู้ประกอบการทางสังคม เพื่อสร้างและส่งต่อห่วงโซ่คุณค่า Pro-Poor Value Chain เกิดวัฐจักรเศรษฐกิจแก่ครัวเรือน ชุมชนอย่างมั่นคง ยั่งยืนตลอดไป


ผศ.ดร.พุฑฒจักร สิทธิ 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พุฑฒจักร สิทธิ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ประธานในพิธี กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าอบรมทุกท่านจะได้โอกาสพัฒนาทักษะเดิม (Up-skill) และปรับทักษะใหม่ (Re-skill) พัฒนาการเรียนรู้สู่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคม ที่จะเป็นกลไกและข้อต่อที่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าการผลิต ที่มิได้คำนึงถึงแค่รายได้จากการประกอบการ แต่ยังคำนึงถึงคุณค่าและผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป และในที่สุดเราจะสามารถหลุดพ้นจากความอยู่ยาก (Suffer) และ อยู่ได้ (Survive) ในสภาพปัจจุบัน ไปสู่สภาพใหม่ คือ การอยู่ดี (Sufficient) การอยู่อย่างชาญฉลาด (Smart) และการอยู่อย่างยั่งยืน (Sustainable)



















ดูภาพกิจกรรม facebook

เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในสกลนคร ติดตามได้ที่ Onepoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า