เนื่องในโอกาสที่ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ในการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2568 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (นครพนม สกลนคร มุกดาหาร)
ผศ.ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ กล่าวผลการดำเนินแพลตฟอร์มขจัดความยากจน จ.สกลนคร สามารถช่วยครัวเรือนบรรเทาความยากจนได้ ร้อยละ 29.81 จากครัวเรือนยากจนทั้งหมด ผลการดำเนินงานครั้งนี้ เกิดขึ้นจากระบบและกลไกของ อว.ส่วนหน้า ที่ผนึกพลัง 3 สถาบันอุดมศึกษาใน จ.สกลนคร แก้จน คือ ม.ราชภัฏสกลนคร มทร.อีสานสกลนคร และ ม.เกษตรวิทยาเขตสกลนคร ขับเคลื่อนงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ประชาชน
ซึ่งปัญหาความยากจนที่หยั่งรากลึกและขยายวงกว้างในสังคมไทย กลายเป็นโจทย์ท้าทายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาพื้นที่ (บพท.) ได้พลิกบทบาทครั้งสำคัญ มุ่งสู่การเป็นผู้สร้างความสัมพันธ์และประสานพลังภาคีเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดสกลนครอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
.jpg)
“แพลตฟอร์มขจัดความยากจนจังหวัดสกลนคร” ประกอบด้วยกลไกสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ การสร้างกลไกความร่วมมือ การพัฒนาระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนแบบชี้เป้า การพัฒนาระบบส่งต่อความช่วยเหลือและติดตามแบบมุ่งเป้า การพัฒนาโมเดลแก้จน และการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ยุทธศาสตร์แผนพัฒนาระดับจังหวัดและท้องถิ่น มีการดำเนินงานโครงการเพื่อบรรเทาความยากจนสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ดังนี้
- สร้างเครือข่ายพลังแก้จน: จับมือ 45 หน่วยงานลงนาม MOU ขับเคลื่อนงานร่วมกัน
- สร้างขุนพลนักพัฒนา: ปั้นนักบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (Area Manager) 54 คน ลงลุยงานใกล้ชิดชุมชน
- เจาะลึกฐานข้อมูลคนจน: พัฒนาระบบ PPPConnext รวบรวมข้อมูล 12,545 ครัวเรือน (ปี 63-67) จากฐาน TPMAP พร้อมเครือข่ายผู้ใช้ 10 หน่วยงาน ตรวจสอบข้อมูลทั่วจังหวัด พบปัญหาคนจนตกหล่น/ถูกนับซ้ำ และปรับปรุงฐานข้อมูลให้แม่นยำยิ่งขึ้น
- ส่งต่อความช่วยเหลือตรงจุด: มอบโอกาสและความช่วยเหลือด้านสวัสดิการ สุขภาพ ที่อยู่อาศัย และพัฒนาทักษะอาชีพแก่ผู้เดือดร้อน 1,356 ราย
- สร้างอาชีพ สร้างรายได้: ปฏิบัติการโมเดลแก้จนใน 7 อำเภอ (กุดบาก พรรณานิคม อากาศอำนวย เมืองสกลนคร กุสุมาลย์ พังโคน และวานรนิวาส) หนุนเสริมอาชีพหลากหลาย เช่น ปลูกผัก เพาะเห็ด เลี้ยงกบ ปลูกข้าว พริก มันฝรั่ง และกรุงเขมา ครอบคลุม 2,392 ครัวเรือน ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมกว่า 30 รูปแบบ
.jpg)
ผลลัพธ์ที่จับต้องได้...ชีวิตที่ดีขึ้นของคนสกลนคร: ตลอด 5 ปีของการดำเนินงานโครงการ ได้สร้างผลลัพธ์เชิงประจักษ์มากมาย
- รายได้ครัวเรือนเติบโต: ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20%
- เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง: สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ปฏิบัติการกว่า 10 ล้านบาท
- นวัตกรรมสร้างสรรค์อาชีพ: เกิดผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากโครงการกว่า 20 ชิ้น
- โมเดลแก้จนที่ยั่งยืน: พัฒนา 3 โมเดลต้นแบบที่เหมาะสมกับบริบทของครัวเรือนยากจน ได้แก่ Local Content (ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนรายครัวเรือนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น), Pro-poor Value Chain (สร้างห่วงโซ่คุณค่าเพื่อคนจน), และ Social Safety Net (สร้างความปลอดภัยในชีวิต และกองทุนแก้จนระดับจังหวัด)
- กองทุนชุมชนเข้มแข็ง: จัดตั้งกองทุนปัจจัยการผลิต 3 กลุ่ม มีเงินหมุนเวียนกว่า 2 แสนบาท สร้างความเข้มแข็งทางการเงินในระดับชุมชน
- อาชีพยั่งยืนด้วยตนเอง: ชุมชนสามารถดำเนินอาชีพต่อไปได้แม้สิ้นสุดโครงการ และมีข้อตกลงซื้อขายสินค้าเกษตรกับบริษัทเอกชนชั้นนำ
- รวมกลุ่มสร้างพลัง: เกิดการรวมกลุ่มอาชีพอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการรวม 10 กลุ่ม สร้างความสามัคคีและเกื้อกูลในชุมชน
- สู่แผนพัฒนาท้องถิ่น: นำโครงการและกลุ่มเป้าหมายบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่น 6 ตำบล แผนพัฒนาอำเภอ "อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข" 2 อำเภอ และหน่วยงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ มรภ.สกลนคร
- องค์ความรู้สู่สาธารณะ: ตีพิมพ์บทความวิชาการเผยแพร่ผลสำเร็จของโครงการ 2 บทความ
การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบของ มรภ.สกลนคร ในการแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดสกลนคร ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการสร้างสังคมที่เข้มแข็งและลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน ด้วยการผนึกกำลังทุกภาคส่วนและการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยมาประยุกต์ใช้จริง ทำให้เกิดความหวังและโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ที่ประสบปัญหาความยากจนในพื้นที่จังหวัดสกลนคร
.jpg)
.jpg)
.jpg)
.jpg)
.
ภาพ: ประชาสัมพัมธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร