
หลังจบการคืนข้อมูลและประเมินกลุ่มอาชีพในโมเดล "ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ" บ้านบะหว้า ( งานวิจัยแก้จนเกษตรมูลค่าสูง ฯ ) ในระหว่างนั้นผมกำลังทักทายพูดคุยความเป็นอยู่ด้านอื่น ๆ มีกลุ่มเป้าหมาย (แม่ตุ้ม) เดินเข้ามาพร้อมกับหิ้วของฝากมี 3 ถุง ซึ่งแตงโมเป็นหนึ่งที่ได้รับ แม่ตุ้มกล่าวว่า "มีมะม่วงกวน ของฝากตามฤดูกาล จากชุมชนมาให้อาจารย์ค่ะ"
"มะม่วงกวน" ผมไม่ได้กินแบบแท่งและม้วนนานมากกว่า 10 ปีแล้วนะ แต่ก่อนผมเข้าใจว่ามันคือขนม เพราะแม่ไม่มีเงินซื้อขนม จะแปรรูปผลไม้ตามฤดูกาลให้กิน มะม่วงกวนก็เช่นกัน ผมนั่งดูแม่ทำทุกปีจำได้บางขั้นตอน ใช้เวลาในการทำนานถึง 2 วัน กว่าจะได้กิน มีขั้นตอนการทำ ดังนี้
- ต้องเก็บมะม่วงลูกที่สุก จำนวนมากประมาณ 1 - 2 กระสอบ
- ล้างน้ำสะอาด ปลอกเปลือกมะม่วงเอาแค่เนื้อ
- นำเนื้อมะม่วงมากวนจนแห้ง ไม่ต้องใส่น้ำตาลเพิ่มนะแต่ระวังไหม้ให้ใช้ไฟอ่อน ๆ ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ที่จริงขั้นตอนนี้กินได้แล้วนะ แต่จะยังไม่เป็นแผ่น
- รีดให้เป็นแผ่นให้บางตามต้องการ แล้วนำไปตากแดด ถ้าแห้งแล้วนำมารีดด้วยขวดแก้วอีกครั้ง แล้วค่อยม้วนเป็นแท่ง
- บรรจุถุงสองชั้น เก็บไว้กินได้นาน
รสชาติหวานนำเปรียวนิด ความรู้สึกเหมือนกำลังกินลูกอมคูก้าแข็งหน่อยหนึ่ง แต่แม่บอกผมว่า แข็งนะดีแล้วจะได้ประหยัด กินกับข้าวได้นานหลายวัน ส่วนมากเก็บไว้กินในครอบครัวเพราะทำแค่ปีละครั้ง ทุกวันนี้ไม่ได้กินเลยครับ
ถ้าเทียบมูลค่ามะม่วงกวนกับทุเรียนกวนมีราคาเท่ากันแท่งละ 70 บาท ถุงที่ผมได้รับมีประมาณ 20 แท่ง จะมีมูลค่าประมาณ 1,400 บาท แต่ผมว่าความตั้งใจที่จะให้เหมือนเป็นลูกหลานอีกคน มีคุณค่ามากกว่าเยอะ
นี่แหละคือของฝากจากความยากจน "มูลค่าสูง" ขอบพระคุณพ่อแม่พี่น้องบ้านบะหว้าทุกคนนะครับ