โค้งคำนับฟาร์ม นำร่องโมเดลแก้จนชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ จ.สกลนคร

 วันที่ 24 พฤษภาคม 2566 นักวัจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ทีมปฏิบัติการโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง พร้อมด้วย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดกิจกรรมคืนข้อมูลถอดบทเรียนการวิจัยโมเดลแก้จน ปี 2565 เพื่อพัฒนาโจทย์ตามกรอบแนวคิดโมเดลแก้จนชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ ที่วิสาหกิจชุมชนปลูกเห็ดไร้สาร หรือ โค้งคำนับฟาร์ม มีผู้ผลิตเห็ดและผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว 30 คน เข้าร่วมเพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนา และเชื่อมโยงความต้องการนวัตกรรมเกษตรมูลค่าสูง

ตัวตนของโค้งคำนับฟาร์ม

วิสาหกิจชุมชนปลูกเห็ดไร้สาร สามารถถ่ายทอดทักษะองค์ความรู้ขั้นตอนในการผลิตก้อนเห็ดได้ กระบวนการผลิตนำเทคโนโลยีมาช่วย คือ เครื่องผสมสูตรอาหารเห็ด และหม้อเตาอบนึ่งฆ่าเชื้อแรงดันไอน้ำ ช่วยลดแรงงานและลดการสูญเสีย การจัดซื้อจัดเตรียมวัตถุดิบคาดเคลื่อนทำให้การผลิตไม่ต่อเนื่องหรือสินค้าขาดแคลน

ปัจจัยที่ทำให้น้องต่อ ประธานกลุ่ม รวมสมาชิกมาเข้าร่วมได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตละกูลเก่ามีเครือญาติใหญ่แม่ของต่อเล่าให้ฟังว่าจะไปชวนใครในหมู่บ้านก็มีแต่พี่น้องกันหมด ช่วยเหลืองานต่าง ๆ ในชุมชน ซึ่งสมาชิกที่เข้าร่วมโมเดล พี่น้อยผู้ป่วยความรู้สึกช้าจากการได้รับอุบัติเหตุ มาช่วยงานช่วยขนโต๊ะเก้าอี้มาจัดสถานที่วันนี้ ช่วยงานขนก้อนเห็ดเข้าโรงบ่ม สมาชิกและต่อจะให้ค่าแรงทุกครั้งเป็นการดูแลกัน

“โค้งคำนับฟาร์ม ยังต้องเดินทางเพื่อไปถึงฝัน ที่ไม่ใช่ความสำเร็จในทางธุรกิจอย่างเดียว แต่คือการสร้างอุตสาหกรรมการผลิตในแผนดินเกิด อยู่ในอ้อมกอดมารดาผู้อารี” ต่อ โค้งคำนับฟาร์ม

ศักยภาพของกลุ่มและแนวทางบริหารความเสี่ยง

 ระบบการผลิตเห็ดจากเริ่มต้นจนกระทั่งเกิดดอก คือการขยายเชื้อพันธุ์เห็ดด้วยการตัดบ่มเส้นใยที่สมบูรณ์ เห็ดเป็น “วงจรที่มีชีวิต” เจริญพันธุ์และหมดอายุดับสูญ ผู้ประกอบการต้องวาง “แผนการผลิต” ได้อย่างแม่นยำ กล่าวคือถ้าสั่งผลิตเชื้อเห็ดบริสุทธิ์วันนี้ นับไปอีก 40 วัน ถึงจะผลิตก้อนเห็ดได้ และนับไปอีก 30 วัน ก้อนเชื้อเห็ดพร้อมให้เปิดดอก สามารถเลี้ยงดูเก็บผลผลิตได้มากกว่า 4 เดือน การสร้างสมดุลที่เหมาะสมในระบบนิเวศน์เห็ดมีผลต่อการเกิดดอก ปัจจัยสำคัญที่ต้องควบคุมได้แก่ เวลา ฤดูกาล แหล่งอาหาร แสง อากาศ และความชื้น

การนำทักษะการผลิตหัวเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากเมล็ดข้าวฟ่างมาใช้ ก้อนเสียหาย 50 % ไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากขั้นตอนไหน เนื่องจากเริ่มทดลองใหม่ทุกอย่างใช่ดอกเห็ดแม่พันธุ์ การนึ่งฆ่าเชื้อขวดเมล็ดข้าวฟ่าง การติดตั้งเทคโนโลยีไม่พร้อมใช้อาจสร้างปัญหาเพิ่ม การทดลองแต่ละครั้งใช้ทรัพยากรส่วนตัว ที่สำคัญการผิดพลาดอาจกลายเป็นความล้มเหลวเสียชื่อเสียงเมื่อมีผู้จับผิดปล่อยข่าว

การกระจายโรงเรือนเปิดดอกออกไปห่างกันโดยที่ยังไม่มีประสบการณ์ ทำให้การติดตามการแนะนำบางครั้งขาดการสื่อสารหรือเวลาไม่ตรงกันกับพี่เลี้ยง ร่วมไปถึงวินัยในการวางแผนการเงินไม่เป็นไปตามเงื่อนไข สมาชิกให้เหตุผลว่าช่วงนี้เปิดเทอมและเริ่มทำนา แต่ทว่าขึ้นอยู่กับแต่ละชุมชนจะวางแผนบริหารความคาดหวังเพื่อจัดการความเสี่ยงร่วมกัน โมเดลนำร่องมีแผนความเสี่ยงคือการแบ่งจำหน่ายก้อนเชื้อเห็ดเพื่อคงเหลือต้นทุนไว้ผลิตรอบต่อไป

การเว้นระยะห่างเปิดดอกเห็ดแต่ละโรงเรือนเพื่อวางแผนจัดการผลผลิต อาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมกับโรงเรือนที่ควบคุมอุณหภูมิไม่ได้ และการเกิดดอกมีปัจจัยมาจากความชื้นอุณหภูมิและแสง กล่าวคือโรงเรือนที่เปิดดอกทั้งใหม่และเก่า เมื่ออากาศเหมาะสมเห็ดจะเกิดดอกพร้อมกัน แนะนำให้เว้นช่วงผลิตก้อน 2-3 เดือน


ตระหนักก่อนพัฒนาโมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ (นำร่อง)

นอกจากจะได้ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านแล้ว ปฏิบัติการโมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ (นำร่อง) ได้บทเรียนที่สำคัญคือการบริหารความหวัง นักวิจัยคาดหวังผลลัพธ์จากชาวบ้าน ชาวบ้านคาดหวังจะได้รับการยกระดับทักษะองค์ความรู้ที่สามารถสร้างอาชีพรายได้ได้จริง 

สมาชิกบางคนได้รับการพัฒนาทักษะมาดีแล้วจากทุกหน่วยตั้งแต่ พ.ศ.2504 แผนพัฒนาสังคมฯ ฉบับที่ 1 พอนำมาปฏิบัติจริงไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงได้เนื่องจากไม่มีแผนการที่ยืดหยุ่นและการมีเป้าหมายชัดเจน โมเดลนี้มีเป้าหมายร่วมกันชัดเจนทำแล้วเหลือทุน 

แผนแรกคือลงมือทำแล้วเกิดผลขึ้นทันที ปรับแล้วเริ่มขยับในระยะกลางนำทรัพยากรที่มีมาใช้ร่วมกัน แล้วจึงมองระยะยาวด้านโครงสร้างพื้นฐาน คือกลยุทธ์เพื่อขยายผลโมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ ไปยังพื้นที่อื่น ดั่งคำพูดที่ว่า 

“หนทางพิสูจน์ม้ากาลเวลาพิสูจน์คน” เพราะคำว่าได้รับโอกาสกับฉาบฉวยโอกาสต่างกันที่ความซาบซึ้งในงาน





เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ติดตามได้ที่ : Onepoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า