เจาะลึกบริบท "อ.อากาศอำนวย" เจอปัจจัยส่งผลทำให้ยากจน

เจาะลึกบริบท "อ.อากาศอำนวย" เจอปัจจัยส่งผลทำให้ยากจน

สกลนคร - อำเภออากาศอำนวย เผชิญปัญหาความยากจน คนส่วนใหญ่ทำเกษตร รายได้น้อย ค่าครองชีพสูง ขาดทุนหมุนเวียน พึ่งกู้นอกระบบ ขาดแรงงานมีทักษะ คนออกต่างถิ่น ทำครอบครัวอ่อนแอ นายอำเภอฯ ชี้ต้องร่วมมือพัฒนาอาชีพ-ตลาด-นวัตกรรม

บริบทพื้นที่อำเภออากาศอำนวย มีปัจจัยที่ส่งผลต่อความยากจน

ชาวบ้านสะท้อน ปมอาชีพและงานน้อย จุดกำหนิดวงจรความยากจนข้ามรุ่น

ประชากรอำเภออากาศอำนวย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนาข้าว มันสำปะหลัง และสวนยางพารา ซึ่งเป็นการเกษตรในระยะยาว ใช้แรงงานหนัก ลงทุนสูง แต่ได้กำไรน้อยหรือเสี่ยงขาดทุน ทำให้กิจกรรมการผลิตเน้นเพื่อบริโภคในครัวเรือน เป็นความมั่นคงทางอาหาร

ส่งผลให้เกษตรกรไม่มีเงินเก็บสำรอง จึงไม่กล้าเสี่ยงลงทุนทำอาชีพเพิ่ม แต่เมื่อมีโอกาสสนใจก็เข้าไม่ถึงแหล่งทุนต้องพึ่งพาการกู้เงินนอกระบบ แต่ในชุมชนยังมีระบบสวัสดิการและการออมเงินตามภูมิปัญญา คือกองทุนฌาปนกิจและการเลี้ยงสัตว์ (วัว-ควาย) ซึ่งมีความเสี่ยงสูงเมื่อสัตว์เลี้ยงตาย

สำหรับครัวเรือนที่ไม่ได้ทำการเกษตร บางคนจะไปรับจ้างรายวันภาคการเกษตรในพื้นที่ พอมีงานทำหมุนเวียนอาชีพตลอด ดูเหมือนจะมีงานทำแต่ว่ารายได้กลับลดลงเพราะมีค่าครองชีพที่สูงขึ้น 

จากปัญหาทางเลือกอาชีพมีน้อย หลายคนจำเป็นต้องออกไปทำงานต่างถิ่น ส่งผลให้สถาบันครอบครัวอ่อนแอ  ซึ่งอาจส่งผลใหัเกิดปัญหาสังคม เช่น การหย่าร้าง หรือภาวะครัวเรือนแหว่งกลาง

ตัวเลขสะท้อนความจริง ด้านสังคมและเศรษฐกิจ อากาศอำนวย

  • อากาศอำนวย มีเขตการปกครอง 8 ตำบล 94 หมู่บ้าน พื้นที่ทั้งหมด 365,625 ไร่ 
  • แหล่งน้ำสำคัญ 2 สายไหลผ่าน คือแม่น้ำสงครามและแม่น้ำยาม
  • จำนวนบ้านเรือน 23,950 หลังคา มีประชากรรวมทั้งสิ้น 72,033 คน มี 3 ชนเผ่า คือ ไทโย้ย ไทญ้อ ไทลาว
  • แรงงานภาคการเกษตร  จำนวน 15,012 ครัวเรือน มีแรงงาน 30,024 คน พื้นที่ทางการเกษตรรวม 202,695 ไร่
  • จปฐ. ปี 2565 อำเภออากาศอำนวย มีรายได้เฉลี่ยประชากร 63,650 บาท/คน/ปี
  • GPP ปี 2565 จังหวัดสกลนคร มีรายได้เฉลี่ยต่อประชากร 77,408 บาท/คน/ปี


"เรามีวัฒนธรรมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทุกกิจกรรมอาชีพผู้คนมีฝีมือมีทักษะ ทั้งด้านเกษตรกรรมและหัตถกรรม แต่มีจุดด้อยตรงที่เราขาดนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งในส่วนนี้ต้องอาศัยความรู้ความร่วมมือกับ ม.ราชภัฏสกลนคร ที่ช่วยต่อยอดหนุนเสริมการผลิต การแปรรูปและช่องทางจำหน่าย ถ้าบริหารจัดการได้เองทั้งระบบ เกษตรกรเราจะลืมตาอ้าปากได้อย่างสง่างาม" นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย

 

สรุปปัจจัยที่ส่งผลต่อความยากจนในอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร

  • โครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งมีความเสี่ยงสูงจากความผันผวนของราคาผลผลิตและสภาพอากาศ และการขาดแคลนอุตสาหกรรมในพื้นที่ ทำให้ขาดโอกาสในการสร้างรายได้ที่หลากหลาย
  • ปัญหาด้านรายได้และหนี้สิน รายได้เฉลี่ยของประชากรต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของจังหวัด ขาดเงินทุนหมุนเวียนและเงินออมสำรอง ทำให้ไม่กล้าลงทุนในอาชีพใหม่ และมีการพึ่งพาการกู้ยืมเงินนอกระบบ ซึ่งสร้างภาระหนี้สิน
  • ปัญหาด้านแรงงานและการจ้างงาน ขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะแรงงาน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงอาชีพที่มีรายได้สูง การไม่มีงานในพื้นที่ ทำให้ต้องออกไปทำงานต่างถิ่น ส่งผลกระทบต่อสถาบันครอบครัว
  • ปัญหาด้านทุนทางสังคม แม้จะมีทุนทางสังคมในรูปแบบของเครือญาติ แต่ยังขาดการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • ปัญหาด้านภูมิศาสตร์ พื้นที่การเกษตร มีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่เกิดจากแหล่งน้ำสำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำสงคราม และแม่น้ำยาม



สถานการณ์ความยากจนอำเภออากาศอำนวย 

  • TPMAP  ปี 2567 มีคนจน 0 คน ปี 66  มี 24 คน ปี 65 มี 360คน ปี 62 มี 868 คน
  • MSO Logbook (29/03/2568) มีครัวเรือนเปราะบาง 1,099 ครัวเรือน 2,206 คน
  • ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2566จำนวน 18,856 คน
  • PPPConnext ปี 2567 จำนวน 424 ครัวเรือน1,397 คน ปี 2563 - 67 มี 964 ครัวเรือน 3,804 คน

PPPConnext ระบบวิเคราะห์ฐานทุนการดำรงชีพ 5 ด้าน

ครัวเรือนยากจนมีรายได้เฉลี่ย 62,898 บาท/ปี หรือ 5,241 บาท/เดือน หรือ 174 บาท/วัน

  • ทุนมนุษย์
    • ข้อมูลบ่งชี้ว่ามีคนไม่ได้ทำงานถึง 37.52% และว่างงาน 11% สะท้อนถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีศักยภาพและทักษะที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน
    • การขาดโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาทักษะ ทำให้ประชากรไม่สามารถเข้าถึงอาชีพที่มีรายได้สูง
  • ทุนกายภาพ
    • การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่เหมาะสม จะช่วยส่งเสริมการผลิตและเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ
  • ทุนการเงิน
    • ครัวเรือนมีหนี้สินคงค้างถึง 51.76% ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนจำนวนมาก
    • การขาดเงินทุนหมุนเวียน ทำให้เกษตรกรไม่สามารถลงทุนในการพัฒนาการผลิตและแปรรูปสินค้า
    • การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการจัดการหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางการเงินของครัวเรือน
  • ทุนธรรมชาติ
    • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร
    • การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืน ทำให้เกิดปัญหาดินเสื่อมโทรมและขาดแคลนน้ำ
    • การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม (64.59% ของประชากร) เป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
  • ทุนสังคม
    • วิถีชุมชนแบบเครือญาติวงศ์ตระกูล แสดงให้เห็นถึงทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและเศรษฐกิจในชุมชนได้
    • ความเข้มแข็งของชุมชนและความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ จะช่วยสร้างเครือข่ายสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน
    • การส่งเสริมช่วยเหลืออาชีพอย่างถ้วนทั่ว จะทำให้ครัวเรือนเครือญาติ ไม่รู้สึกว่ารัฐสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม


สถานการณ์ความยากจนในอำเภออากาศอำนวย ยังคงเป็นประเด็นสำคัญ แม้ว่าข้อมูล TPMAP ปี 2567 จะระบุว่าไม่มีคนจน แต่ข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ เช่น MSO Logbook และ PPPConnext ยังคงชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางของครัวเรือนจำนวนมาก

ปัญหาหลักคือรายได้เฉลี่ยต่อวันที่ต่ำ (174 บาท/วัน) หนี้สินคงค้างสูง (51.76%) และการขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะแรงงาน การเข้าถึงแหล่งทุน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการสนับสนุนด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ ทุนกายภาพ ทุนการเงิน ทุนธรรมชาติ และทุนสังคมอย่างครบวงจร โดยเน้นการส่งเสริมอาชีพที่ยั่งยืน การจัดการหนี้สิน และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน


ภาพความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ ที่จะเอื้อต่อการแก้จน

  • การแก้ไขปัญหาความยากจนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
  • การสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาชุมชน
  • การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการตลาดและการจำหน่ายสินค้า

การตลาดสินค้าของชุมชน

  • การทำการตลาดสำหรับสินค้าที่ผลิตในชุมชนนั้นจำเป็นต้องมองตลาดที่กว้างขวางกว่าในระดับตำบล เนื่องจากกำลังซื้อในพื้นที่อาจไม่เพียงพอต่อการจำหน่ายสินค้าทั้งหมด
  • ระบบการซื้อขายในรูปแบบเดิมนั้น ส่วนมากจะเป็นการซื้อขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งทำให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม
  • การส่งเสริมการตลาดออนไลน์และการสร้างแบรนด์สินค้าของชุมชน จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงผู้ซื้อโดยตรงและได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมมากขึ้น

เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ติดตามได้ที่ : Onepoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า