ที่โรงเรียนบ้านนาดอกไม้ ต.สามัคคีพัฒนา อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จัดกิจกรรมสนับสนุนห้องเรียนยุวชนสัมมาชีพเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครัวเรือนและใช้กระบวนการวิศวกรสังคม ด้วยการผลิตและบรรจุก้อนเห็ดนางฟ้า เพื่อตอบเป้าหมาย SDG1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ เมื่อวันที่ 26 - 27 ก.ค. 2567
ตลอดทั้ง 2 วัน 2 คืนนี้ พบกับกิจกรรมที่หลากหลายทั้งองค์ความรู้ นันทนาการ ฝึกปฏิบัติจริง เริ่มต้นกล่าวต้อนรับทุกคนโดย นายบัญชา คิดโสดา ผอ.โรงเรียนบ้านนาดอกไม้ เปิดค่ายอบรมโดย ผศ.ดร.พุฑฒจักร สิทธิ คณบดีคณะมนุษย์และสังคมศาสตร์ ภายหลังนายอำเภออากาศอำนวย นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช มาร่วมเยี่ยมชมการดำเนินโครงการ ซึ่งมีคณะครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านนาดอกไม้ เกษตรอำเภออากาศอำนวย สมาชิกวิสาหกิจชุมชนนาปรังมูลค่าสูง มากกว่า 100 คน เข้าร่วมเป็นจิตอาสาการเพาะเห็ด
อาจารย์สายฝน ปุนหาวงค์ ผู้รับผิดชอบดูแลงานกล่าวว่า การเพาะเห็ดนางฟ้าในครั้งนี้ นำโมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ ที่เกิดผลกระทบจากงานวิจัยปฏิบัติการแก้จนเกษตรมูลค่าสูง ฯ ซึ่งมีกระบวนการดำเนินงานที่สำคัญ คือ สร้างระบบพี่เลี้ยงวิสาหกิจชุมชน (เพื่อสังคม) เคลื่อนที่ (Serve) มาถ่ายทอดทักษะการบรรจุก้อนเชื้อเห็ด คือโค้งคำนับฟาร์ม โดยคุณณรงค์ฤทธิ์ ขวาวงษา ประธานวิสาหกิจชุมชนปลูกเห็ดไร้สาร บ้านเสาวัด นอกจากองค์ความรู้แล้วระบบพี่เลี้ยงยังนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตด้วย (Co Technology)
เป้าหมายคือผลิตและบรรจุก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าจากวัสดุขี้เลื่อยไม้ยางพาราให้ได้อย่างน้อย 6,000 ก้อน โดยณรงค์ฤทธิ์ ขวาวงษา ได้ถ่ายทอดทักษะการผลิตก้อนเชื้อเห็ดและการใช้เทคโนโลยี ได้แก่ การผสมสูตร การบรรจุก้อน การนึ่งฆ่าเชื้อ การหยอดเชื้อ และการบ่มก้อนเชื้อเห็ด อีกทั้งนักศึกษาวิศวกรสังคมร่วมสร้างบรรยากาศให้เหมาะกับน้องนักเรียน ทั้งร้อง เต้น เล่นเกม ถาม-ตอบ มอบของรางวัล และจับมือน้องปั้นเพาะเห็ด พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกกำกับงานให้บรรลุตามปรารถนา
นี่คือระบบการจัดสวัสดิการ "การเรียนรู้" รูปแบบหนึ่งโดย ม.ราชภัฏสกลนคร เกิดจากผู้เรียนสนใจที่อยากจะรับรู้ จากการสร้างแรงจูงใจด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม ซึ่งการพัฒนาทุนมนุษย์โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนในปัจจุบัน
โหลดภาพกิจกรรม
1. https://drive.google.com/drive/folders/1PZzh4EjuK9Sj8urY59Qs65s-DtyiTmbm
2. https://drive.google.com/drive/folders/1-19SNnSu-8oxwGdU9gXrU41oK6sblVtP