
ใคร ๆ ก็ถามว่า “เห็ดไค” อยู่นาน เจอแล้วมันคือ “เห็ดนางฟ้า”
ช่วงนี้ ฤดูกาลของเห็ดป่ามีหลากหลายชนิดมาก เช่น เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดปลวก แต่มี “เห็ดไค” หลายท่านที่ยังไม่รู้จัก อาจขำขันกันเพราะเข้าใจว่าเป็นคำถาม หากออกเสียงไม่ชัดเจนคำว่า “ไค” กับ “ใคร” ก็ทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ จึงกลายเป็นเรื่องพูดคุยขำขันกันในชุมชน เหมือนข้อความข้างต้น
วันนี้จะพาทุกท่านมารู้จักกับ "เห็ดไค" ที่ไม่ใช่เห็ดของใคร ในงานคัดสรรหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2567 ที่บ้านบะหว้า ต.บะหว้า อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ได้ไปเจอบูธ “เห็ดไค” ที่นับเป็นของอร่อยเลิศรสเลยทีเดียว เมนูอาหารที่ชาวบะหว้าแนะนำ คือ ตำป่นเห็ดไคหรือแจ่วเห็ดไค (ได้ยินแล้วอยากจกข้าวเหนียวจ้ำเด้พี่น้อง) นอกจากจะอร่อยแล้วยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกด้วย
เห็ดไค เป็นเห็ดป่าที่อร่อยไม่แพ้เห็ดอื่น ๆ เลยทีเดียว ลักษณะของเห็ดไคนั้นมีสีขาวนวลปนเทา ดอกใหญ่ ผิวเรียบคล้ายหมวก พบได้ตามป่าชื้นทั่วไปในเขตภาคเหนือและภาคอีสาน และมีชื่อเรียกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น เห็ดไค เห็ดตะไคล เห็ดด่าน เห็ดหล่ม เห็ดหอมดิน เป็นต้น
นอกจากเห็ดจากป่าชุมชนแล้ว ชุมชนนี้ยังเป็นโมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ “เพาะเห็ดนางฟ้า” จากโครงการเกษตรมูลค่าสูง ฯ จังหวัดสกลนคร โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป้าหมายด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอีกด้วย ทำให้กลุ่มมีรายได้มากกว่า 70,000 บาทแล้วนะ
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ