
ม.ราชภัฏสกลนคร ร่วมกับ พช.อำเภอพรรณานิคม ลงพื้นที่บ้านคำแหว เพื่อคืนข้อมูล ถอดบทเรียนงานวิจัย พร้อมทั้งลงทะเบียนผลิตภัณฑ์ "สบู่สมุนไพรไทบรู" เป็นสินค้า "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์" หรือ OTOP เมื่อวันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2567
คืนข้อมูลวิจัยโมเดลแก้จน การสร้างโอกาสทางสังคม
เทือกเขาภูพาน ฝั่งด้านที่ติดกับบ้านคำแหว ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร (GPS) คือหมู่บ้านชาติพันธุ์ไทบรู ชาวบ้านมีวิถีการดำรงชีพและกลยุทธ์การเอาตัวรอดอยู่กับธรรมชาติ เป็นความภูมิใจเมื่อพูดถึงนายพรานหรือวิถีของพราน มีภูมิปัญญา ทักษะ และความเชี่ยวชาญการใช้ "ยาสมุนไพร" คือวิชชาที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษถึงปัจจุบัน ได้แก่ แก้ปวดกล้ามเนื้อ บำรุงกำลัง บรรเทาอาการไข้ ผ่อนคลาย และผดผื่นคันตามผิวหนัง ลองคิดดูว่าถ้าเราเดินป่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง นั้นแหละคือสิ่งจำเป็นที่ไทบรูต้องเตรียมป้องกันเช่นกัน
นักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร ทีมปฏิบัติการโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง ฯ ได้วิเคราะห์ทุนการดำรงชีพอย่างยั่งยืน (SLF.) พบว่า มีทุนสังคมและทุนมนุษย์น้อยมาก ไม่มีการรวมกลุ่มอาชีพ รวมถึงไม่มีทักษะอาชีพในทศวรรตที่ 21 ซึ่งสอดคล้องกับหลายคนพูดว่า "ไทบรูมีวัฒนธรรมที่เข้าถึงยาก ทำให้มีอุปสรรคในการพัฒนาหมู่บ้าน" ดังนั้นจึงเอาอัตลักษณ์ที่เป็นศักยภาพของไทบรูบ้านคำแหว นำมาพัฒนากรอบการวิจัยด้วยแนวคิดการสร้างโอกาสทางสังคม (Social Mobility) เพื่อสร้างมูลค่าจากสมุนไพร
.jpg)
บทเรียนในปฏิบัติการแก้จน "ล้มแล้วลุกไว" สู่ "บรูนิวเจน"
องค์ความรู้ที่ได้งานวิจัย คือ "วิจัยแก้จน ล้มแล้วลุกไว" ทีมงานเข้าพื้นที่ตั้งแต่ ปี 2565 เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมเกิดขึ้นมาก เข้ามาทดสอบมาหลายด้านและผ่านพ้นไปได้ด้วยกระบวนการวิจัย (ความคิดเห็นส่วนตัวผมเป็นกระบวนการคัดคน ด้วยทฤษฎีทางแยกของศีลธรรม) ได้แก่
- การสร้างผลิตภัณฑ์สมุนไพร ด้วยอัตลักษณ์ไทบรู ผ่านกลไกผู้นำทางจิตวิญญาณ
- การสร้างทีม ด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม ผ่านกลไก บ้าน วัด โรงเรียน (บวร)
- การสร้างผู้นำกลุ่ม ด้วยการบริหารความคาดหวัง ผ่านกระบวนการสร้างการยอมรับคนรุ่นใหม่หรือ "บรูนิวเจน" ตั้งกลุ่มอาชีพสมุนไพรบรูไฮ (ไทบรู)
"บรูนิวเจน" คือกระบวนการสร้างการยอมรับคนรุ่นใหม่ ผ่านกิจกรรมโดยการปฏิบัติจริง (เจ็บจริง ได้จริง โดนด่าจริง) นายคำมี นวลอาสา ผู้ใหญ่บ้านคำแหว กล่าวว่า "การพัฒนาที่ผ่านมาส่วนใหญ่ทิ้งไว้กลางทาง คือชาวบ้านหรือหน่วยงานพัฒนาไม่เกิดรูปธรรม ชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำขาดรายได้มาอบรมจึงไม่ค่อยให้ความร่วมมือ แต่งานวิจัยนี้ทำตามบริบทของไทบรู และยังติดตามแก้ไข สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ พัฒนายกระดับจนเกิดรายได้แบ่งเงินกัน" คุณลักษณะคนรุ่นใหม่ที่ชาวบ้านยอมรับ คือ มีความรู้ด้านเทคโนโลยี การสื่อสาร กล้าแสดงออก วางแผนจัดการความเสี่ยง และช่วยเหลือแบ่งปันกัน
.jpg)
ลงทะเบียนผลิตภัณฑ์ "สมุนไพรไทบรู" เป็นสินค้าโอท็อป
ต้องชื่นชม สนง.พัฒนาชุมชนอำเภอพรรณานิคม โดยคุณวาสนา สุดาชม นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ ลงพื้นที่กลุ่มสมุนไพรบรูไฮ (ไทบรู) บ้านคำแหว เพื่อบริการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร เป็นสินค้าระดับ D คือสบู่สมุนไพรไทบรู ทั้ง 5 สูตร ได้แก่ สูตรมะขามน้ำผึ้ง มะขามกาแฟ มหาเมฆ พญาว่าน และสูตรน้ำผึ้งเดือนห้า ทะเบียนเลขที่ 470410001
คำพูดของคุณวาสนา โดนใจผมมาก คือ “ส่วนใหญ่เราจะว่างวันหยุด แต่ชาวบ้านไม่เคยหยุดหรอก มาได้ตลอด” แต่ที่จริงแล้ว ตามที่ผมลงชุมชนถึงแม้ชาวบ้านจะไม่มีวันหยุด แต่เขาก็ไม่ว่างต้อนรับทุกคนเสมอไป นี่คือของจริงเป็นของแทร่ (ของแท้) ทั้งชุมชน ชาวบ้าน ผู้นำ และภาคีเครือข่าย เห็นถึงความพร้อมของกลุ่ม ถึงแม้จะผ่านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาหลายครั้ง แต่ยังเล่าเรื่องแก่นเดิมได้ คือ สมุนไพรไทบรู
.jpg)
พญาว่าน สบู่ลดผื่นคัน
“พญาว่าน” สมุนไพรไทบรูสารตั้งต้นที่ใช้ทำสบู่ สูตรลดอาการคันตามผิวหนัง สินค้าขายดีของกลุ่มสมุนไพรบรูไฮ (ไทบรู) พ่อแก้ว นวลอาสา หรือพรานแก้ว ปราชญ์ด้านสมุนไพรในชุมชน เล่าให้ผมฟังว่า พญาว่านมีทั้งต้นผู้และต้นเมีย ปลูกในช่วงนี้แหละ (พฤษภาคม) ตามวันปลูกพืชของไทบรู เก็บผลผลิตนำหัวที่มีสารสำคัญไปใช้ประโยชน์ได้ช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม หรือต้นก่อยลงหมายถึงต้นแห้งเหี่ยวลง
- พญาว่านต้นผู้ มีลำต้นสีแดง ลงหัวเป็นเหง้าเหมือนขมิ้น
- พญาว่านต้นเมีย มีต้นสีเขียว ลงหัวใหญ่หนักประมาณ 1 กิโลกรัม
เมื่อผมถามว่า "ต้นผู้หรือต้นเมียให้สรรพคุณดีกว่า" พ่อแก้วตอบว่า "หมอยาสมุนไพรบอกต่อมาว่าต้นเมีย"
.jpg)
.jpg)
.jpg)
.jpg)
.jpg)
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ