ทำโรงทาน “บุญมหาชาติ” วัดไตรภูมิ สืบสานประเพณีท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

บุญมหาชาติ บุญประทายข้าวเปลือก วัดไตรภูมิ อ.อากาศอำนวย

นักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร ร่วมกับ นายอำเภออากาศอำนวย รวมพลังศรัทธาซื้อสินค้าจากชาวบ้านในโมเดลแก้จน “เห็ด ข้าว สมุนไพร” ทำโรงทานร่วมงาน “บุญมหาชาติ” เริ่มวันแรก 10มี.ค.2567 ที่วัดไตรภูมิ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เพื่อสืบสานประเพณีอีสานและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร

ผศ.ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ รองอธิการฯ และ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา พร้อมด้วย นักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ทีมปฏิบัติการโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง และกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโมเดล ตั้งจุดบริการอาหารและสวัสดิการ หรือโรงทาน มอบให้ผู้ที่เดินทางมาทำบุญมหาชาติและบุญประทายข้าวเปลือกที่วัดไตรภูมิ

โดยมีนายอำเภออากาศอำนวย ให้การต้อนรับเหมือนกับเป็นนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งแนะนำพิธีที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวไทโย้ย ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตามประเพณีบุญเดือนสี่ (ในฮีต12 คอง14)

ผศ.ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์ รองอธิการมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

บุญมหาชาติและบุญประทายข้าวเปลือกกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ปฏิทินการท่องเที่ยวเดือนมีนาคมในสกลนคร ได้แนะนำมาร่วมทำบุญมหาชาติ (บุญผะเหวด) และบุญประทายข้าวเปลือก (บุญกุ้มข้าวใหญ่หรือคูณลาน) ระหว่างวันที่ 10 - 13 มีนาคม 2567 ณ วัดไตรภูมิ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ประเพณี มีกำหนดการงานบุญ ได้แก่ พิธีสวดพุทธาภิเษก พิธีรำถวายบูรพาจารย์ พิธีเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง พิธีทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหาร ถวายข้าวเปลือก และฟังเทศน์มหาชาติ

นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย กล่าวว่า ช่วงเดือนมีนาคมชาวอำเภออากาศอำนวยหลายหมู่บ้านเริ่มทำบุญเดือนสี่ อย่างปีนี้ท่านเจ้าอาวาสวัดไตรภูมิ และคณะกรรมการจัดงานใหญ่ 4 วัน ซึ่งชาวบ้านขอให้นายอำเภอเป็นต้นบุญต้นแบบ “พระเวสสันดรชาดก” จะมีพิธีอันเชิญพระเวสสันดรเข้าเมืองในวันที่ 12มี.ค.2567 และขอเชิญประชาชนทุกคนมาทำบุญที่วัดได้ทุกวัน

นายสุทธิเมศวร์ บุญแสนกุลธวัช นายอำเภออากาศอำนวย

โมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูงกับทุนวัฒนธรรม

อ.สายฝน ปุนหาวงค์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ได้ระดมทุนจากผู้มีศรัทธาจัดตั้งเป็นกองบุญ เพื่อนำไปสนับสนุนสินค้าและผลิตภัณฑ์จากกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมปฏิบัติการโมเดลแก้จน มาร่วมตั้งจุดบริการอาหารและสวัสดิการ ประกอบด้วย เห็ดสดจากชุมชน 50 ก.ก. สบู่สมุนไพรไทบรู 1,000 ก้อน ข้าวผัด 100 กล่อง และน้ำดื่มน้ำหวาน 300 ถ้วย 

พร้อมทั้งถวายปัจจัยวัดจำนวน 4,920 บาท ทีมนักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร กระจายรายได้สร้างเศรษฐกิจในชุมชนได้มากกว่า 22,470 บาท นอกจากนี้แต่ละคนร่วมทำบุญส่วนตัวอื่น ๆ เช่น “ตักบาตรพระ 105” หรือที่พลาดไม่ได้คือ “สอยดาวการกุศล”

ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา พร้อมทีมงานเตรียมเห็ด

รายได้จากการท่องเที่ยวจังหวัดสกลนครเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จังหวัดสกลนคร มีเป้าหมายด้านพัฒนาการท่องเที่ยวเมือง 3 ธรรม (ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรมประเพณี) ซึ่งในปี 2566 มีรายได้จากการท่องเที่ยว มีผู้มาเยือน 1,631,112 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.71 มีรายได้ 2,811.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.22 อยู่ลำดับที่ 15 จังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, สืบค้น11มี.ค.67)

มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้ปฏิบัติการวิจัยแก้จนด้วยระบบผลิตเกษตรมูลค่าสูง 3 โมเดล ได้แก่ โมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ คลังเมล็ดพันธุ์ข้าว และสมุนไพรไทบรู ดำเนินงานร่วมกับอำเภออากาศอำนวย ตามนโยบาย “อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพื่อยกระดับอาชีพเสริมศักยภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามแนวคิด Pro-poor Value Chain เกิดการสร้างงานให้กับครัวเรือนฐานราก ทำให้กลุ่มเป้าหมายมีรายได้เพิ่ม ซึ่งได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)


เจ้าอาวาสวัดไตรภูมิ และทีมทำโรงทางถ่ายภาพรวม
ชาวดงสาร เตรียมเห็ด
กลุ่มแปรรูปสบู่สมุนไพรไทบรู มอบสบู่
เจ้าอาวาสวัดไตรภูมิ มอบของที่ระลึกและให้พร

เจ้าอาวาสวัดไตรภูมิ มอบของที่ระลึกและให้พร

เจ้าอาวาสวัดไตรภูมิ มอบของที่ระลึกและให้พร

ดร.มาลี ศรีพรหม เอาเห็ดกลุ่มบ้านบะหว้าไปทำบุญ

สอยดาวการกุศล

ผอ.สถานบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เตรียมสถานที่

คนมีวาสนาได้แต่เครื่องซักผ้า

 ......

เรียบเรียงโดย : สมชาย เครือคำ (แตงโม สกลนคร)
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ blogOnepoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ


ติดตามทาง Face book

 

{fullWidth}
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า