วันคริสต์มาส ปี 2566 ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ปฏิบัติการโมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง จัดกิจกรรมทำสบู่สมุนไพรบรู มอบเป็นของขวัญให้กับชาวบ้านคำแหว ชาติพันธุ์ชนเผ่าบรู ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
ทุกครั้ง ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากท่าน ผอ.นาวา มาตราช และ คณะคุณครู โรงเรียนบ้านคำแหว ค่อยอำนวยความสะดวกทั้งสถานที่และอาหารการกิน แทบจะเป็นศูนย์กลางรวมใจชาวบรูสกลนครไปแล้ว แต่วันนี้ขอเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้เพิ่มทักษะอาชีพด้านสมุนไพร ให้กับนักเรียนและผู้ปกครองก่อนนะครับ
นอกจากนี้ นักวิจัย ได้เชื่อมภาคีชาวกูรูด้านสมุนไพรอย่างคุณแม่ทัศนา จากวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรบ้านคำข่า (หมู่บ้านใกล้เคียง) มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้แลกเปลี่ยนไอเดียเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สบู่สมุนไพรบรู
เนื่องจากการทดลองสินค้าครั้งที่แล้ว มีกระแสตอบรับจากชาวบ้านดีเกิดคาด มีเสียงกระซิบบอกว่า "หอมละมุนเหมือนเยาว์วัยกันทั่วหมู่บ้าน" กลิ่นหอมส่งไปไกลถึง กทม. จนมีออเดอร์ปัง ๆ เบา ๆ 40 ก้อน
จึงไม่รอช้า งานนี้วิทยากรจับมือทำเองทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การหาสมุนไพรในชุมชน ได้แก่ ว่านหางจรเข้ ขมิ้นชัน หัวไชเท้า และอุปกรณ์ทำครัวพวกเตาไฟ หม้อ ที่ปั่นสมุนไพร เห็นบรรยากาศสนุกสนานบันเทิงจากผู้เข้าอบรมทุกรุ่นเด็กจนถึงผู้ใหญ่ ทั้งนักเรียนและคุณครู หรือจะเรียกว่ารุมก็ได้ เวลาผ่านไปไม่นานก็ได้สบู่สมุนไพรบรูเรียบร้อยครับ
อาจารย์สายฝน ปุนหาวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัยเกษตรมูลค่าสูง ฯ กล่าวว่า "กิจกรรมครั้งนี้เป็นการปลูกความคิดจิตสำนึก ให้รู้คุณค่ากับสิ่งที่มีอยู่คือสมุนไพรนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยมีโรงเรียนเป็นกลไกบริหารจัดการทั้งองค์ความรู้และบัญชี ทำให้เกิดข้อตกลงต่าง ๆ และได้แบ่งกลุ่มการผลิตในชุมชนเป็นของชาวบ้าน และที่โรงเรียนเป็นของนักเรียน"
ที่สำคัญโรงเรียนบ้านคำแหว นำรูปแบบโมเดลแก้จนทุนวัฒนธรรมสมุนไพรบรู เข้าเป็นแผนการเรียนการสอนในรายวิชากิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ชุมนุมสมุนไพร
ต้องขอบพระคุณ ผอ.นาวา และคณะครู ที่นำการเปลี่ยนแปลงสู่หมู่บ้านคำแหว และเป็นกลไกหลักการขับเคลื่อนชุมชนด้วยพลังของชุมชนเอง เริ่มจากความต้องการที่เป็นอัตลักษณ์นั้นคือ "สมุนไพร" ที่ชาวบรูทุกคนยอมรับ พร้อมทั้งมองอนาคตปลูกฝังสืบทอดวัฒนธรรมให้กับรุ่นต่อไป
ถือเป็นสัญญาณบอกว่าการ "ปลูกชีวิต" เกิดแสงสว่างจุดต่อกันออกไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปเข้าสู่กระบวนการ "ปลูกความคิด" ให้เกิดการเลื่อนระดับทุนครัวเรือนด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะทุนเศรษฐกิจ และจะเป็นการ "ปลูกจิตวิญญาณ" บอกเล่าเผยแพร่เรื่องเล่าชาติพันธุ์บรูในสังคม
ผมเริ่มเห็นรูปธรรมการ "สร้างโอกาสทางสังคม" ไม่สิต้องพูดว่า ชาวบรูได้รับโอกาสทางสังคม มาสร้างสรรค์คุณค่าจากภูมิปัญญาสู่การสร้างมูลค่าด้วยตนเอง ชาวบ้านถึงจะเอ่ยได้อย่าง "ภาคภูมิ" มั่นใจพูดต่อเล่าต่อได้เต็มปาก สิ่งนี้คือความรู้สึกว่ามี "ศักดิ์ศรี"
ดำเนินการ : โครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ติดตามได้ที่ Onepoverty และ blockdit และ Facebook
แหล่งทุนวิจัย : หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ติดตามได้ที่ งานยุทธศาสตร์ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ