CBR กลไกเสริมพลังชาวบ้านเป็นนักวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น


สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอีสาน ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการวิจัยเพื่อท้องถิ่น “การเสริมพลังกระบวนการเรียนรู้ชุมชนท้องถิ่นเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ที่ห้องสร้อยสุวรรณา ชั้น 3 อาคาร 10 มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เมื่อวันที่ 10 – 12 กรกฎาคม 2567

ชาวบ้านก็สามารถเป็นนักวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นได้

งานนี้จัดเต็มเชิญเหล่าผู้ก่อตั้ง CBR และศิษย์เอกมาร่วมเป็นวิทยากร นำโดย ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง รศ.ดร.กาญจนา แก้วเทพ นายบุญเสริฐ เสียงสนั่น อ.ดร.ภาสกร บัวศรี รวมถึงดอกผลที่เกิดจากงานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นเป็นทีมพี่เลี้ยงจัดงานอบรมครั้งนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพที่ใช้แนวทางการวิจัย CBR สู่การดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาแก้ไขปัญหาชุมชน ท้องถิ่น มีบุคลากรนักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร และทีมกลไกสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในภาคอีสานหลายจังหวัด ซึ่งจำกัดผู้เข้าร่วมอบรม 60 คน

บรรยากาศ 3 วัน มีกิจกรรมที่น่าสนใจ โดยทีมวิทยากรนำเครื่องมือมีอายุกว่า 20 ปี ใช้ในการนำเสนอแนวคิด หลักการ ขั้นตอนและกระบวนการเส้นทางวิจัยเพื่อท้องถิ่นสู่ปฏิบัติการ นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้คัมภีร์ CBR ที่มีการพัฒนาตำรามาถึง 4 รุ่น ได้แก่ Problem Tree , LogFrame , Outcome Mapping , Impact Pathway พร้อมลงมือใช้ประโยชน์เครื่องมือมากกว่า 30 ชิ้น ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจ

ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง

ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง อดีตผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น (สกว.) กล่าวว่า หัวใจของการวิจัยเพื่อท้องถิ่น คือ การหยุดทบทวนและตั้งสติคนในชุมชนว่า เราเป็นใคร มีประวัติศาสตร์มาจากไหน เราจะไปไหน มีทางเลือกอื่นใดของชีวิตบ้างหรือไม่ ตลอดเกือบ 30 ปีที่ผ่านมางาน CBR เสริมพลังท้องถิ่นมากกว่า 2,000 หมู่บ้าน สร้างนักวิจัยท้องถิ่นมากกว่า 30,000 คน ถ้าขับเคลื่อนทั่วประเทศแบบเดิม กว่า 75,000 หมู่บ้านอาจใช้เวลานานถึง 1,000 ปี ถ้าผลักดันเข้ายุทธศาสตร์เป็นวาระการวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นแห่งชาติ งานพัฒนาท้องถิ่นจะสร้างคนมีความรู้ทั่วประเทศได้ไวขึ้น

ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 เส้นทาง CBR

งานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หรือ CBR (Community-Based Research) ดำเนินการตั้งแต่ปี 2541 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภายหลังกองทุนยุบเลิกไปในปี 2562 แต่ระบบและกลไกยังสามารถขับเคลื่อนมาจนถึงปัจจุบัน

เคยได้ยินคนในท้องถิ่นพูดแบบนี้ไหม ...? "นักวิจอก-วิจัย นักวิชาการ-วิชาเกิน"

นี่คือทัศนคติชาวบ้านที่มีต่อนักวิจัย นัยยะ คือ นวัตกรรมบางอย่างใช้งานไม่ได้เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิปัญญาชาวบ้านจึงดูกระจอกน่าขำ หรือนวัตกรรมบางอย่างเกินศักยภาพที่ชาวบ้านจะดูแลได้โดยเฉพาะค่าดูแลซ่อมแซม ซึ่งเป็นช่องว่างที่อันตรายสู่การขาดโอกาสพัฒนาท้องถิ่นที่จะก่อเกิดความเหลื่อมล้ำเช่นปัจจุบัน งาน CBR เข้าไปลดช่องว่างระหว่างนักวิจัยกับชาวบ้านด้วยการสร้างองค์ความรู้การวิจัยและนวัตกรรม

ผลลัพธ์ที่สำคัญของการวิจัย CBR คือ การพัฒนาคนและของ มีเป้าหมายการวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นแบบองค์รวม เกิดจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่นที่มาจากกระบวนการวิจัย เกิดภูมิปัญญาท้องถิ่นและกระบวนการเรียนรู้ เกิดความเข้มแข็งขององค์กรและเครือข่าย สู่การขยายผลไปยังชุมชนท้องถิ่นอื่น นอกจากนั้นยังช่วยปกป้องการเข้าใจผิดที่ชาวบ้านมีต่องานวิจัย อธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจง่าย ๆ เปรียบเทียบเหมือนการใส่ปุ๋ยในนาข้าว ที่มีการปรับเปลี่ยนสูตรใหม่อยู่เสมอมีการพัฒนาไม่หยุดนิ่ง ระบบและกลไกงาน CBR จึงมี "ชาวบ้านเป็นนักวิจัย" ร่วมทุกโครงการ

รศ.ดร.กาญจนา แก้วเทพ
นายบุญเสริฐ เสียงสนั่น






ภาพ : ศักดิ์ดา แสนสุพรรณ
เรื่อง : แตงโม สกลนคร
ติดตามได้ที่ : Onepoverty , blockdit และ Facebook
แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า